20 กันยายน 2018 เวลา 14:27:26 น. |
อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า (พ.ต.ท.) พลเรือน ตำรวจ ทหาร |
อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า (พ.ต.ท.) พลเรือน ตำรวจ ทหาร ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยกว๊าน หมู่ที่ 9 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นอนุสรณ์สถาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อบ้านเมืองของ นายประหยัด สมานมิตร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย , พลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, และพลโทจำเนียง มีสง่า อดีตผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าวกองทัพภาคที่ 3 โดยกำหนดการจัดพิธี การวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า ในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความคิดผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นต่างไปจากกรอบสังคมเดิม ๆ ระหกระเหินเข้าป่าปักหลักต่อสู้และยึดมั่นในแนวทางแห่งตนนำมาสู่วีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่ง จ.เชียงราย ความทรงจำสีเลือดและความกล้าหาญ เมื่อ 37 ปีก่อน ถูกจารึกเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำเมื่อวันวาน ระยะทาง 15 กิโลเมตร เลาะเลียบริมฝั่งโขง ใน อาณาเขตของภูหลวง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงรายภายใต้ขุนเขาที่โอบล้อมเต็มไปด้วยป่าทึบรกร้างไร้ผู้คนชาวบ้านกลุ่มหนึ่งดั้นด้นเข้าไปบุกเบิกแผ้วถาง ตั้งเป็นชมรมหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านห้วยกว๊าน” หนึ่งในผู้บุกเบิกมีชื่อของ “กวง” หนุ่มฉกรรจ์เต็มวัย แม้วันนี้เขาจะสู่วัยชราล่วงเข้าวัย 75 ปีแล้วก็ตามแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ยังแจ่มชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ด้วยพื้นที่เป็นป่าเขารกร้างไร้ผู้คน จึงเหมาะแก่การตั้งฐานปฏิบัติ ซุ่มซ่อนเร้นตัวออกจากสังคม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) กลุ่มหนึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ ณ ที่นี้เอง และนี้จึงเป็นที่มาของวีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่งจังหวัดเหนืออสุดแดนสยาม นามว่า เชียงราย 12 กันยายน 2513 ระหว่างการทำสงครามกวาดล้าง ผกค.อย่างหนัก “ประหยัด สมานมิตร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็ได้รับแจ้งจาก“สงัด สิทธิ” ผู้ใหญ่บ้านห้วยกว๊านว่า มี ผกค. จำนวนกว่า 30 คน ต้องการเข้ามอบตัวต่อทางการ ในเวลา 10.00 น. วันที่ 20 กันยายน 2513 หรืออีก 8 วันข้างหน้า โดยมีจุดนัดพบกันที่ดอยหลวงแปรเมือง เขตติดต่อ อ.เชียงของ กับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย การนัดหมายครั้งนี้มีข้อแม้ว่า “พ่อเมืองเชียงราย”ต้องเป็นคนมารับมอบตัวด้วยตัวเอง!!! 8 วันที่เหลือหมดไปกับการตระเตรียมการรับมอบตัวกลุ่ม ผกค. และแล้ววันเวลานัดแนะก็มาถึง ประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พ.อ.จำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะ รวม 9 คน ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 20 กันยายน 2513 มุ่งตรงไปยังดอยหลวงแปรเมือง จุดนัดพบทันที แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่ม ผกค. แจ้งขอเปลี่ยนจุดมอบตัว จากเดิมบนดอยหลวงแปรเมือง มาเป็นบ้านห้วยกว๊านในปัจจุบัน ห่างจากจุดนัดพบเดิมออกไปราว 1 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อ 37 ปีก่อน เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยโตรกผาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้วยความไว้วางใจและเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจทั้งคณะของทางการจึงไม่มีใครพกพาอาวุธติดตัวไปด้วยเลยแม้แต่คนเดียว ดูเหมือนทุกคนจะไม่เฉลียวใจเลยว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ทั้งคณะก้าวลงจากเฮลิคอปเตอร์มุ่งตรงไปยังจุดนัดพบตามที่กลุ่ม ผกค. นัดแนะไว้ ก้าวต่อก้าวที่คืบไปข้าวหน้า ใกล้เข้าไป ๆ จู่ๆ สิงที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น ห่ากระสุนจากอาวุธสงครามนานาชนิด ทั้งเอ็ม 16 คาร์บิน และอาก้า แหวกตัดอากาศมาจากทุกสารทิศ ดังสนั่นกลบสรรพสิ่งในป่าทึบ ระยะเวลานับตั้งแต่กระสุนนัดแรกระเบิดขึ้นจนถึงจัดสุดท้ายเงียบเสียงลงกันเวลายาวนานถึง 15 นาที ร่างอันชุ่มเลือดของผู้กล้า 3 คน อันได้แก่ ผู้ว่าฯ ประหยัด ผู้กำกับฯ ศรีเดช และผู้ช่วย จำเนียร กองอยู่กับพื้น ระหว่างเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความฉุกละหุก อันหมายถึงความเป็นความตายและความอยู่รอดนี้ คณะผู้ติดตามผู้ว่าฯ ประหยัด ต่างตะเกียกตะกาย หลบเข้าหาที่กำบังเอาตัวรอด ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 คน คือ ร.ต.อ. อำนวย เพชรยัง ตำรวจ สภ.อ.เชียงแสน และ นายสมบูรณ์ พรหมเมศร์ นายอำเภอเชียงแสน สามารถหลบหนีมายังฐานที่ตั้งหน่วย ตชด. ปฏิบัติการพิเศษ ต.บ้านแซว จากนั้นรายงานเหตุร้ายจึงถูกส่งตรงไปยังหน่วยตำรวจและทหารใกล้เคียง เพื่อส่งกำลังสนับสนุนเข้าไปกู้ศพผู้เสี่ยงชีวิตทั้ง 3 คน ไม่นานนักกำลังพลจากหน่วยพลร่ม มณฑลทหารบกที่ 3 และ ตชด. ค่ายเม็งรายมหาราช จึงเข้าเคลียร์พื้นที่เกิดเหตุ เกิดการปะทะกับกลุ่ม ผกค. อีกระลอก ซึ่งกินเวลานานกว่าครึ่งค่อนวัน กว่า ผกค.จะล่าถอยออกไป ปล่อยให้เจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่และนำศพผู้กล้าออกจากจุดเกิดเหตุ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนของฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในป่ามากถึง 100 ปลอก บ่งบอกให้รู้ว่ากลุ่ม ผกค.มีการตระเตรียมแผนไว้แล้วล่วงหน้า และลงมือกระหน่ำยิงเมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาอยู่ในวิถีกระสุน หลังเกิดเหตุ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและกำชับให้หาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว โดยมอบหมายให้ พล.ท.สายหยุด เกิดผล รองผู้บัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น เป็นหัวเรือใหญ่ ตั้งประเด็นการสังหารไว้ 2 ประเด็น คือ กลุ่มคนร้ายรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการมอบตัว จึงวางแผนลองสังหาร กับการสร้างแผนลวงเพื่อลอบสังหารโดยตรง ผลการสอบสนยังผลให้ สงัด สิทธิ ผู้ใหญ่บ้านห้วยกว๊าน ผู้ให้ข่าว ผกค. ติดต่อขอเข้ามอบตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ เก้าฟ่ง แซ่จาง พร้อมพวกอีก 6 คน ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยนำตัวมาสอบปากคำและถูกลงโทษในเวลาต่อมา เหตุการณ์ความกล้าหาญและความเสียสละของทั้ง 3 คน ดำเนินจากอดีตมาสู่ปัจจุบันอย่างเงียบเหงา โดดเดี่ยว มีเพียงไม่กี่คนที่รู้และจดจำเรื่องราวในวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้ กระทั่งอีก 34 ปีต่อมา จึงมีคนเล็งเห็นคุณค่า จัดสร้างอนุสรณ์สถาน 3 ผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ขึ้น ณ บ้านห้วยกว๊านเหนือ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สถานที่เกิดเหตุจริงเมื่อครั้งอดีต อนุสรณ์สถานผู้กล้า อนุสรณ์สถาน 3 ผู้กล้า พตท. ณ บ้านห้วยกว๊านเหนือ มีขนาดความสูง 12 เมตร ทำด้วยสเตนเลส ฐานกว้าง 4 เมตร ทำด้วยหินอ่อน ฐานด้านหน้าจารึกประวัติและภาพถ่ายของทั้ง 3 ผู้กล้า ยอดเป็นสามเหลี่ยมให้ความหมายองค์รวม หมายถึง สถาบันสูงสุดของชาติ และเป็นรากฐานแห่งความเสียสละใช้งบประมาณจากภาคราชการ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรประชาชน ออกแบบโดย “กนก วิศวะกุล” ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ด้านศิลปวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยภาครัฐและเอกชน ทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2547 หรือภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นมาแล้ว 34 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังปรากฎร่องรอยของการเคารพบูชาจากคนรุ่งหลัง ๆ ที่แสดงออกด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน มาเคารพผู้กล้าทั้ง 3 คน ผู้ว่าฯ เกียรติยศ นาประหยัด สมานมิตร เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนมหาดไทย อ.เมือง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2491 และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับชั้น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และย้ายดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2513 นายประหยัด สมานมิตร สมรสกับ คุณหญิงรัตนา (บุณยะรัตเวช) ไม่มีบุตรด้วยกัน และเสียชีวิตจากวีรกรรม 3 ผู้กล้า พตท. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2513 เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเกียรติศักดิ์ไทย ที่ประชาชนชาวเชียงรายและชาวไทยขอยกย่องให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเกียรติยศแห่งชาติ พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 6 เมื่อปี 2495 เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2498 ชั้นพลตำรวจ โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 3 จ.สกลนคร และเจริญก้าวในหน้าที่การงานตามลำดับ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือ พ.ต.อ. ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (เทียบเท่าตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน สมรสกับนางกาญจนาภรณ์ มีบุตรด้วยกัน 4 คน เสียชีวิตจากวีกรรม3 ผู้กล้า พตท. เมือวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นยศจาก พ.ต.อ. เป็นพล.ต.ท. พ.อ.จำเนียร มีสง่า จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2488 เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2889 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จ.อุบลราชธานี จนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2512 ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 3 พ.อ.จำเนียร มีสง่า สมรสกับ นางบุญเรือน มีบุตรด้วยกัน 5 คน เสียชีวิตจากวีรกรรม 3 ผู้กล้า พตท.เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นยศจาก พ.อ.เป็น พล.ท |
อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า, พ.ต.ท., เชียงแสน, บ้านห้วยกว๊าน, บ้านแซว, นายประหยัด สมานมิตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, พลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน, พลโทจำเนียง มีสง่า, พิธีวางพวงมาลา, วีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่งจังหวัดเชียงราย, ดอยหลวงแปรเมือง, กนก วิศวะกุล, |
คำค้น :อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า, พ.ต.ท., เชียงแสน, บ้านห้วยกว๊าน, บ้านแซว, นายประหยัด สมานมิตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, พลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน, พลโทจำเนียง มีสง่า, พิธีวางพวงมาลา, วีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่งจังหวัดเชียงราย, ดอยหลวงแปรเมือง, กนก วิศวะกุล, |
ข้อมูลติดต่อ :องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแซว ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โทร / แฟ็กซ์ 053-607555 (อบต.บ้านแซว) |
ภาพ และข้อมูล จาก www.chiangraifocus.com |