|
เชียงรายพันธุ์แท้ |
วันที่ |
18 เมษายน 2009 |
เวลา |
12:31:49 |
cmu_555@hotmail.com |
IP |
202.28.27.3 |
|
|
|
เฉลย "แฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์ล้านนา"
|
เฉลยแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์ล้านนา ยาวหน่อยนะครับ คุณสมบัติต่อไปนี้คือบุคคลใดในประวัติศาสตร์ล้านนา
1. โอรสองค์ที่ 2 ของพญามังราย ตอบ พญาไชยสงคราม หรือ ขุนคราม ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พญามังรายทรงมีพระราชโอรสกับมเหสี 3 พระองค์ ได้แก่ ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ ตามลำดับ โดยขุนเครื่อง พระชนมายุได้เพียง 13 พรรษา ทรงถูกพญามังรายส่งมือหน้าไม้ไปลอบสังหารที่เมืองพร้าว เนื่องจากขุนเครื่องหลงเชื่อขุนไสเรียง ขุนนางเมืองเชียงราย ที่ยุยงให้ก่อการกบฏต่อพระราชบิดา หลังจากพญามังรายสวรรคต ขุนครามจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์มังราย พระนามว่าพญาไชยสงคราม ส่วนขุนเครือ ต่อมา ได้ถูกจองจำจนสิ้นพระชนม์ที่นครเชียงใหม่ เนื่องจากก่อกบฏในรัชสมัยของพญาไชยสงคราม
2. นางสนม ผู้ยุยงให้พระเจ้าติโลกราชประหารองค์รัชทายาท ตอบ ท้าวหอมุก พระเจ้าติโลกราช ครองราชย์ พ.ศ.1985-2030 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า ในปลายรัชสมัย พระองค์ทรงมีสติฟั่นเฟือน หวาดระแวงว่าจะมีผู้ก่อกบฏโค่นบัลลังก์ ทรงรับสั่งให้ประหารแม่ทัพและขุนนางหลายคน รวมทั้งท้าวบุญเรือง พระราชโอรสเพียงองค์เดียวที่ประสูติแต่พระมเหสีด้วย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชทรงถูก ท้าวหอมุก นางสนมคนโปรดยุยง
3. กษัตริย์เมืองน่าน ผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากเมืองสุโขทัย ตอบ พญาการเมือง หรือ พญาครานเมือง ตำนานพื้นเมืองน่านกล่าวว่า พญาการเมือง ครองราชย์ พ.ศ.1896-1901 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ภูคา สมัยนี้เมืองน่านและกรุงสุโขทัยต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในการนี้พญาการเมืองได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากสุโขทัยและให้สร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้น
4. เจ้าหลวงเชียงใหม่ ฉายาเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น ตอบ พระยาพุทธวงศ์ หรือ เจ้าหลวงพุทธวงศ์ พระยาพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 4 ปกครองระหว่าง พ.ศ.2368-2389 ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3 ในสมัยนี้เมืองเชียงใหม่มีความสงบร่มเย็น เจ้าหลวงมีความเมตตากรุณา จัดการบ้านเมืองอย่างสุขุม ปราศจากโจรผู้ร้าย ราษฎรจึงขนานนามพระองค์ว่า เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น
5. ชาวเมืองยวมใต้ (แม่สะเรียง) ผู้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยพม่าปกครอง ตอบ เทพสิงห์ เทพสิงห์ปกครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2270 ซึ่งเป็นช่วงที่พม่ากำลังประสบปัญหาความวุ่นวายภายในอาณาจักร เทพสิงห์จึงได้อาศัยจังหวะนี้รวบรวมกำลังคนขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ ทว่าเทพสิงห์ครองเมืองได้เพียงเดือนเดียวก็ถูกกลุ่มอำนาจอื่นๆในเมืองเชียงใหม่รวมตัวขับไล่ นำโดยองค์คำ เจ้านายเชื้อสายล้านช้าง
6. ผู้นำชาวบ้านหนองจ๊อม แขวงสันทราย เมืองเชียงใหม่ หัวหน้ากบฏต่อต้านชาวสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ตอบ พระยาปราบสงคราม หรือ พระยาผาบ พระยาปราบสงครามมียศเทียบเท่ากับกำนันในปัจจุบัน สมัยนั้นเจ้าภาษีนายอากรชาวจีนได้กดขี่ชาวล้านนาอย่างมาก พระยาปราบสงครามได้ช่วยเหลือลูกบ้านของตนโดยการขับไล่เจ้าภาษีนายอากร ต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การขับไล่ข้าราชการชาวสยาม ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการจัดเก็บภาษี เกิดการจลาจลในพื้นที่รอบนอกของเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2432 ก่อนจะขยายตัวไปเป็นการต่อต้านการปกครองของสยาม การก่อกบฏในครั้งนี้กระทบถึงนโยบายผนวกล้านนาของสยามอย่างเต็มที่
กลุ่มชาวล้านนาไล่สังหารชาวจีนและชาวสยามด้วยความอัดอั้น เห็นได้จากคำพูดประโยคหนึ่งของพระยาปราบสงคราม ฆ่าหื้อเสี้ยง ตึงเจ๊กตึงคนใต้ หำหน้อยเท่าจี้+++ดก็ฆ่า ตีความได้ว่า ฆ่าให้หมด ทั้งคนจีนและคนไทย แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงก็ไม่ต้องเว้น
7. คู่แฝดเจ้าอนันตยศ กษัตริย์เขลางค์นครลำปาง ตอบ เจ้ามหันตยศ ในจามเทวีวงศ์ระบุว่า พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ทรงประสูติโอรสฝาแฝด 2 องค์ สำหรับองค์พี่นั้นพระนามว่า มหันตยศ ส่วนองค์น้องทรงพระนามว่า อนันตยศ หลังจากพระนางสวรรคต เจ้ามหันตยศจึงได้ครองนครหริภุญชัย ส่วนเจ้าอนันตยศได้เมืองใหม่ คือ เมืองเขลางค์นครลำปาง
8. ภิกษุผู้รจนา (แต่ง) ชินกาลมาลีปกรณ์ ตอบ พระรัตนปัญญาเถระ หรือ พระสิริรัตนปัญญาเถระ พระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวเชียงราย เป็นกวีเอกสมัยพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068) กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนา ผลงานของท่านมีหลายชิ้น โดยชินกาลมาลีปกรณ์นั้นรจนาเมื่อ พ.ศ.2060 เนื้อหากล่าวถึงกาลของพระพุทธเจ้า โดยเรียบเรียงอย่างมีระเบียบแบบแผน
9. กษัตริย์ล้านนาผู้ทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิมองโกล ตอบ พญามังราย ในรัชสมัยของพญามังราย (พ.ศ.1804-1854) มองโกลหรือราชวงศ์หยวนได้ปกครองจีน แล้วแผ่ขยายอำนาจลงมาทางใต้ โดยสามารถตีอาณาจักรพุกามในพม่าแตก พญามังรายตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าวจึงดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อป้องกันดินแดนของพระองค์ เช่น ทรงทำสัญญาสามกษัตริย์เป็นพันธมิตรกับพะเยาและสุโขทัย เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนับสนุนพวกไทใหญ่ที่ต่อต้านอำนาจมองโกลในพม่า ซึ่งนำไปสู่ข้อพิพาทครั้งสำคัญ ทำให้มองโกลยกทัพบุกเชียงรุ่ง เมืองของพระญาติฝ่ายพระราชมารดาพญามังราย พระองค์จึงยกทัพขึ้นไปต้าน สงครามระหว่างเชียงใหม่กับมองโกลดำเนินต่อมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยของพญามังราย
10. ขุนศึกของพระเจ้าติโลกราช ผู้นำทัพเมืองน่านขับไล่เวียดนามออกจากหลวงพระบาง ตอบ ท้าวขาก่าน ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ล้านช้างมีข้อพิพาทกับไดเวียด (เวียดนาม) เวียดนามตีหลวงพระบางราชธานีของล้านช้างแตก เชื้อพระวงศ์ลาวหนีมาพึ่งล้านนาที่เมืองน่าน ต่อมา กองทัพเวียดนามได้รุกเข้ามาในเขตเมืองน่าน ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองน่านขณะนั้น ได้ขับไล่พวกเวียดนามออกไปได้สำเร็จและมีส่วนช่วยให้ราชวงศ์ของลาวกลับคืนสู่บัลลังก์ล้านช้าง ปัจจุบัน ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ยังคงปรากฏศาลของท้าวขาก่าน เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่บูรณะพระธาตุแช่แห้ง หลังเสร็จศึกแกว (เวียดนาม) พระเจ้าติโลกราชเลื่อนให้ท้าวขาก่านมาครองเมืองเชียงราย
11. เจ้าหญิงกรุงหงสาวดี พระสนมของพญามังราย ตอบ นางอุสาปายโค หลังจากพญามังรายได้นครหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ.1835 ไม่นาน พระองค์ก็ยกทัพบุกหงสาวดี แต่กษัตริย์หงสาวดีขอเป็นไมตรีโดยการยกนางอุสาปายโคพระราชธิดาให้ ในครั้งนั้นจึงมีมอญหงสาวดีติดตามนางอุสาปายโคเข้ามาในล้านนามากมาย ซึ่งล้วนต่างเป็นช่างฝีมือแทบทั้งสิ้น
12. เจ้าเมืองเชียงราย ผู้ก่อกบฏสมัยพญาแสนเมืองมา ตอบ ท้าวมหาพรหม พญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928-1944) กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ท้าวมหาพรหม พระเจ้าอา (น้องของพ่อ) ครองเมืองเชียงราย ได้ยกทัพมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่ประสบความล้มเหลว ท้าวมหาพรหมจึงขอความช่วยเหลือไปที่อยุธยา ซึ่งเป็นสมัยของขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ. 1929 กองทัพอยุธยาจึงยกเข้ามาตีล้านนา โดยเข้าปล้นเมืองลำปาง ซึ่งไม่สำเร็จ กองทัพอยุธยาเป็นฝ่ายล่าถอยกลับไป ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อยุธยาขึ้นมาทำสงครามกับล้านนา ส่วนท้าวมหาพรหมภายหลังขัดแย้งกับพญาใต้ (กษัตริย์อยุธยา) จึงกลับมาล้านนา พญาแสนเมืองมาส่งให้ไปครองเมืองเชียงรายเช่นเดิม
13. กวีล้านนา ผู้แต่งคร่าวใคร่สิกและคร่าวร่ำนางชม ตอบ พระยาพรหมโวหาร พระยาพรหมโวหาร (พ.ศ.2345-2430) นับเป็นกวีที่เลิศในทางการประพันธ์คร่าว เป็นศิษย์พระยาโลมาวิสัย เป็นบุตรของแสนเมืองมา ผู้ดูแลคลังของเจ้าหลวงลำปาง พระยาพรหมเดิมชื่อ พรหมินทร์ เคยบวชเรียน เมื่ออายุประมาณ 25-26 ปี ได้ลาสิกขาบทและได้แต่ง คร่าวใคร่สิก เพื่อลาอาจารย์และอุบาสกอุบาสิกา พระยาพรหมโวหารมีผลงานในการประพันธ์มากมาย ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ คร่าวสี่บท หรือ คร่าวร่ำนางชม ท่านแต่งเรื่องนี้ด้วยความสะเทือนใจในเรื่องความรักที่เมียทิ้ง เป็นการระบายอารมณ์กวีได้อย่างลึกซึ้ง มีข้อความไพเราะกินใจ จนเป็นที่ติดปากของคนทั้งหลายในเวลาต่อมา
14. ผู้ถูกเจ้าหลวงเชียงใหม่ประหารชีวิต โทษฐานนับถือคริสต์ศาสนา ตอบ น้อยสุยะ (น้อยสุริยะ) และ หนานชัย น้อยสุยะ (น้อยสุริยะ) และ หนานชัย โทษในขณะนั้นคือละทิ้งพระธรรมคำสั่งสอน หันไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ จึงถูกฆ่าตายโดยคำสั่งของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2399-2413) เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 ด้วยพระนิสัยที่เด็ดขาดเป็นที่เคารพยำเกรงในหมู่ข้าราชบริพารและพสกนิกร เมื่อทรงพิจารณาตัดสินว่าคดีความใดแล้ว หากทรงเอ่ยว่า อ้าว เมื่อใด หมายถึงการต้องโทษตัดศีรษะประหารชีวิต จนประชาชนทั่วไปต่างถวายพระสมัญญาว่า เจ้าชีวิตอ้าว
15. เจ้าเมืองพิษณุโลก ผู้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ตอบ พระยายุทธิษเฐียร พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ.1991 นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 4 ที่ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก ล่วงถึง พ.ศ.1994 พระยายุทธิษเฐียรหันไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา กษัตริย์ซึ่งทำสงครามกับอยุธยายาวนานกว่า 25 ปี
16. ภิกษุชาวลำพูน บุตรนายควายและนางอุสา ผู้ถูกทางการจับกุมถึง 3 ครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 5-7 ตอบ ครูบาศรีวิชัย ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ.2421-2481) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในล้านนาว่าเป็น ตนบุญ หรือ นักบุญ อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยมีชีวิตอยู่นั้น เชียงใหม่ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงศูนย์กลางของมณฑลพายัพ ถึงแม้ทางส่วนกลางจะพยายามรวมทุกแว่นแคว้นเข้าเป็นไทยเดียวกัน แต่ล้านนายังคงเอกลักษณ์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่างจากภาคอื่นๆที่ถูกกลืนเข้าอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองของส่วนกลาง กรุงเทพฯพยายามจะลดบทบาทของล้านนาลงในทุกวิถีทาง เช่น ทางด้านการปกครอง ก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาประจำมณฑลพายัพ ส่วนทางด้านศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร แต่ในขณะนั้นรูปแบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาได้มีรูปแบบเฉพาะของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับอาจารย์ จึงมีพระสงฆ์บางส่วนต่อต้านการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ในล้านนา ซึ่งรวมถึงครูบาศรีวิชัยด้วย ประเด็นดังกล่าวถูกโยงว่าเป็นการต่อต้านนโยบายผนวกล้านนาของรัฐบาลสยาม ครูบาศรีวิชัยจึงถูกจับกุมตัวถึง 3 ครั้ง
17. สล่าล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้บูรณะเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ ตอบ หมื่นด้ามพร้าคต หมื่นด้ามพร้าคต หรือ สีหโคตรบดี เป็นชาวเมืองยวมใต้ (แม่สะเรียง) รับราชการเป็นช่างหลวงในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) และพระเจ้าติโลกราช หมื่นด้ามพร้าคตเดินทางไปจำลองแบบรัตนมาลีเจดีย์ที่เกาะลังกา เพื่อมาบูรณะพระเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังสร้างเจดีย์ในวัดเจ็ดยอด นครเชียงใหม่ ด้วยการเดินทางไปถอดแบบพุทธคยาถึงชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย)
18. ผู้รับตำแหน่งพระยารัตนาเขตต์ เจ้าหลวงเมืองเชียงรายองค์แรก ตอบ เจ้าธรรมลังกา พ.ศ. 2386 ในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้พระยาพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 4 การจัดตั้งเมืองเชียงรายฟื้นคืนให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ป้องกัน ภัยจากพม่าโดย มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ญาติพี่น้อง อันมีเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นพระยารัตนาเขตต์ เจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยง เป็นพระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ มีราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองขึ้นของพม่า ในสมัย เก็บผักใสซ้า เก็บข้าใส่เมือง พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมือง 4 เมือง คือ เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ 1,000 ครอบครัวขึ้นมาตั้งสร้างบ้านเมือง เมืองเชียงราย ในยุคนี้ได้มีการก่อกำแพง สร้างประตูเมืองต่างๆเพิ่มเติมในส่วนที่เคยเป็น เมืองเก่ามาแต่สมัยพญามังรายให้เป็นเมือง พันธุมติรัตนอาณาเขต มีการย้ายสะดือเมืองมาอยู่ที่วัดจันทโลก (ปัจจุบันคือวัดกลางเวียง)
19. ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดเจ็ดยอด นครเชียงใหม่ ตอบ พระเจ้าติโลกราช ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวไว่ว่า ในปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดเกล้าให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จ ถือเป็นหลักปฏิบัติหลักปฏิบัติของพระสงฆ์นิกายต่างๆในล้านนาสืบมา ในพิธีนี้พระองค์ทรงคัดเลือกให้พระธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เจนจัดในพระบาลี เป็นฝ่ายประธานสงฆ์ และพระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็น ประธานฝ่ายคฤหัสถ์
20. ขุนนางของพญามังราย ผู้แฝงตัวเข้าไปสร้างความปั่นป่วนในนครหริภุญชัยถึง 7 ปี ตอบ อ้ายฟ้า พงศาวดารโยนกกล่าวว่า ขณะที่ประทับที่เมืองฝาง พญามังรายทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับนครหริภุญชัย (ลำพูน) ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและศาสนาที่สำคัญในลุ่มน้ำปิงตอนบน ทรงมีพระราชประสงค์จะได้เมืองนี้ แต่เมื่อใคร่ครวญรอบคอบดีแล้ว เห็นว่าการใช้กำลังเข้าหักหาญนั้นรังแต่จะพ่ายแพ้ เพราะนครหริภุญชัยเป็นเมืองใหญ่ จึงใช้ยุทธวิธีส่ง อ้ายฟ้า ไปเป็นไส้ศึกดำเนินการยุแหย่ทำลายความสามัคคีระหว่างพญายี่บากับประชาราษฎร์
วิธีการของพญามังรายก็คือ แสร้งลงโทษสถานหนักแก่อ้ายฟ้า โดยการเฆี่ยนตี แล้วยึดลูกเมียทรัพย์สมบัติเข้าเป็นของหลวง จากนั้นก็เนรเทศอ้ายฟ้าออกจากเมือง อ้ายฟ้าหนีไปพึ่งใบบุญพญายี่บาแห่งหริภุญชัยแล้วสามารถปฏิบัติตนให้เป็นที่โปรดปราน และไว้วางใจของพญายี่บา ตลอดจนบรรดาขุนนางและประชาชน จนกระทั่งพญายี่บามอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินคดีความต่างๆแก่อ้ายฟ้า ทั้งยังมอบหน้าที่ในการเก็บภาษีอากรเข้าพระคลังหลวงให้อ้ายฟ้าด้วย
อ้ายฟ้าได้โอกาส จึงสร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรด้วยการเก็บภาษีในอัตราที่สูงผิดปกติ มีการเกณฑ์ราษฎรไปขุดเหมืองตีฝายชักน้ำเข้านาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตอนนั้นดินจะแห้งแข็ง ทั้งยังกำหนดให้แล้วเสร็จในเวลาอันจำกัด เหมืองแห่งนี้ภายหลังจึงได้ชื่อว่า เหมืองแข็ง ซึ่งยังปรากฎร่องรอยให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ อ้ายฟ้ายังเกณฑ์ราษฎรไปตัดไม้ในป่ามาสร้างคุ้มให้พญายี่บา โดยให้ลากไม้มาตามท้องทุ่งนา ทำลายต้นข้าวที่กำลังเจริญงอกงามดีของชาวบ้านจนเสียหายหนัก ทั้งหมดนี้อ้ายฟ้าอ้างว่าพญายี่บาเป็นผู้สั่งการ ทำให้ราษฎรโกรธแค้นพญายี่บาอย่างยิ่ง ถึงตอนนี้หริภุญชัยก็ระส่ำระสายหนักแล้ว อ้ายฟ้าเห็นดังนั้นจึงถือโอกาสพูดจายกย่องคุณงามความดีของพญามังราย ทำให้ชาวเมืองอยากได้พญามังรายมาเป็นเจ้าปกครองในหริภุญชัย อ้ายฟ้ารีบทำหนังสือไปกราบทูลพญามังรายให้ทรงทราบ พญามังรายจึงยกทัพมาตีหริภุญชัยได้โดยง่ายดายในปี พ.ศ.1835
21. ผู้นำทัพขับไล่ทหารจีนราชวงศ์หมิงในศึกฮ่อล้อมเมืองเชียงแสนครั้งแรก ตอบ เจ้าแสนคำเรือง หรือ เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ในพงศาวดารโยนกระบุว่า เชียงใหม่ปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการใช้ฮ่อ (จีน) ต่อมา ฮ่อจึงตีเมืองเชียงแสน เป็นกำลังผสมระหว่างทหารราชวงศ์หมิงกับชาวพื้นเมืองในยูนนาน ซึ่งพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นเจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกทัพขึ้นไปขับไล่ข้าศึกได้สำเร็จ
22. เจ้าหลวงเมืองน่าน ผู้เป็นพระเจ้าน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์ ตอบ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (พ.ศ.2436-2461) เจ้าหลวงเมืองน่าน ได้สร้างความชอบไว้มากมาย โดยเฉพาะการทำสงครามปราบฮ่อในลาวร่วมกับกองทัพสยาม เป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก จึงทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้านครน่าน มีพระอิสริยยศเทียบเท่า เจ้าต่างกรม เมื่อ พ.ศ.2446
23. กษัตริย์อยุธยา ผู้เสียเมืองศรีสัชนาลัยให้แก่ล้านนา ก่อนจะได้คืนในภายหลัง ตอบ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชขยายอำนาจลงทางใต้ ทรงทำสงครามกับอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยาทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2006 ในการทำสงครามครั้งนี้ เมืองศรีสัชนาลัยตกเป็นของล้านนากว่า 20 ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2018 อยุธยากับล้านนาจึงตกลงเป็นไมตรีกัน
24. หัวหน้าชาวลัวะ ผู้ถวายสาส์นทูลเชิญพระนางจามเทวีเสด็จไปเป็นมเหสี ตอบ ขุนวิลังคะ จามเทวีวงศ์กล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญชัยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี โดยเฉพาะ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะเชิงดอยสุเทพ ได้ส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการมาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสี ราวปี พ.ศ.1226 แต่พระนางจามเทวีปฏิเสธ ทำให้เกิดสงครามระหว่างนครหริภุญชัยกับชาวลัวะตามมา
25. เจ้าหลวงเชียงใหม่ ผู้ถูกลงโทษตัดขอบใบหู ตอบ พระเจ้ากาวิละ พ.ศ.2317-2347 ในระหว่างสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนานั้น นอกจากทหารล้านนาแล้ว ยังมีไพร่พลชาวสยามจากกรุงธนบุรีร่วมรบด้วย ทว่าในระหว่างตั้งค่ายอยู่ที่เมืองลำปางนั้น มีเหตุการณ์ที่ทหารสยามข่มเหงราษฎรล้านนา พระเจ้ากาวิละจึงจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงพิโรธ แต่มิอาจลงโทษตายแก่พระเจ้ากาวิละได้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สยามและล้านนาผิดใจกัน พระเจ้าตากสินจึงทรงลดโทษให้ โดยเปลี่ยนเป็นการตัดขอบใบหูแทน |
|
|