ความคิดเห็นที่
2 |
|
เชียงรายโฟกัส |
|
27 ตุลาคม 2007
11:46:30 |
|
|
IP :
117.47.42.239 |
|
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตามตำนานเล่าว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นทั่วชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียเวลานี้ เริ่มตั้งแต่เมืองราชคฤท์, พาราณสี, เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ, พระพุทธบิดา, พระนางมหาปชาบดีโคตมี, พระนางยโสธราพิมพา และราหุลราชกุมาร ตลอดถึงพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของตนแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์หลังจากพระองค์ประสูติได้ 7 วัน พระองค์ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ซึ่งทรงพิจารณาว่ามีพระคุณมากมายยิ่งนัก จะหาอะไรเปรียบปานมิได้ ทรงวินิจฉัยโดยรอบคอบแล้ว ทรงเห็นว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา เป็นการใช้หนี้ค่าน้ำนมให้คู่ควรกันได้ นั่นคือ พระอภิธรรม ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ววันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าจึงเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ มีประชาชนไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงถือว่า วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาสู่เมืองมนุษย์ จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า "ตักบาตรเทโว"
การตักบาตรเทโวนี้ เป็นประเพณีใหม่ที่เข้ามาในล้านนาไทย เริ่มแต่พุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา พระสงฆ์และประชาชนได้ลัทธิประเพณีมาจากไทยภาคกลาง นำมาจัดทำกันในล้านนา จนถึงปัจจุบัน |
|