จังหวัดเชียงรายจัดงาน 2002 ปี สืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี พ.ศ.2563
ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียวราย เป็นประธานประกอบพิธีเปิดงานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง "2002 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง" ประจำปี พ.ศ.2563 เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 มี.ค.2563 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือ ที่บริเวณทางขึ้นพระธาตุดอยตุง วัดศาลาเชิงดอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย โดยมี ผศ.ดร.พระรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ และคณะสงฆ์ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวพุทธจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว เข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
การจัดงานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง "2002 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง" ประจำปี พ.ศ.2563 จัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือ ด้วยมีความมุ่งหมายเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่บุรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ และส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดจรรโลงประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่มีมาแต่อดีตกาล ด้วยการพัฒนาจิตใจให้เกิดคุณธรรม จริยธรรม มีความอดทน มานะ เสียสละ เกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนพระบรมธาตุดอยตุง โดยยึดเหนี่ยวให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงรายและล้านนาทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นฐานเชื่อมโยงให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความกตัญญูกตเวที ตลอดทั้งความเจริญงอกงามด้านจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย
โดยในปีนี้นับว่าเป็นมหามงคลยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรง เพื่อเชิญไปสรงน้ำพระธาตุดอยตุง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานน้ำสรง พระราชทานผ้าไตร 10 ไตร และพระราชทานผ้าห่มพระธาตุดอยตุงในงานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2563 ในวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2563 อีกด้วย
โดยก่อนที่ประธานในพิธีจะตัดริบบิ้นปล่อยขบวนเดินจาริกฯ ได้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา และสักการะพระรูปปั้นครูบาศรีวิชัย ประธานสงฆ์แสดงสัมโมทนียกถา จากนั้น เป็นพิธีจาริกแสวงบุญเดินตามฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง ซึ่งมีประชาชนทั้งจากในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ประชาชนทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางมาร่วมสักการะพระธาตุดอยตุง ในครั้งนี้กว่า 2,000 คน พร้อมกับการปฏิบัติธรรม ร่สมพิธีสืบชะตาหลวงล้านนาและผู้เกิดในปีกุน พิธีตักน้ำทิพย์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์อบรมสมโภชน้ำทิพย์ สวดเบิก ทำบุญตักบาตร พิธีบวงสรวงพระธาตุดอยตุง ขบวนแห่สักการะสัตนาถ พิธีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง และพิธีห่มพระธาตุดอยตุง
โดยผู้ร่วมเดินขึ้นดอยจะต้องเดินขึ้นเส้นทางป่าเขาที่อดีตครูบาศรีวิชัยเคยแผ้วถางทางเดิน เพื่อขึ้นไปยังพระธาตุดอยตุง รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 3-5 ชั่วโมง ผู้เดินไปตามเส้นทางธรรมชาติถึงที่หมายจะได้รับเหรียญเป็นที่ระลึก ออกแบบโดย อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินเชียงรายสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งการเดินขึ้นดอยครั้งนี้ จะต้องอาศัยความอดทนและแรงศรัทธา ในการไปให้ถึงเป้าหมาย ณ พระธาตุดอยตุง และสักการะพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย(ส่วนกระดูกไหปลาร้า) ขององค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ที่เมื่อแรกก่อสร้างได้ทำธงตะขาบ หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตุง" มีขนาดใหญ่ ยาว หลายพันวา ปักไว้บนยอดดอย คู่กับพระธาตุดอยตุง ได้ทอดร่มเงาปกครองบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบ ให้มีความร่มเย็น จวบจนปัจจุบัน
การจัดพิธีเดินจาริกแสวงบุญขึ้นพระธาตุดอยตุง เป็นประเพณีที่จังหวัดเชียงรายและพุทธศาสนิกชนได้จัดสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เป็นนโยบายในการส่งเสริมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมสำคัญยิ่งของจังหวัดเชียงรายในถิ่นล้านนา โดยนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ได้มุ่งส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื่องด้วยพระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานสำคัญ และเป็นพระธาตุเจดีย์องค์แรกของล้านนาแห่งนี้
สำหรับผู้ร่วมในพิธีเดินขึ้นจาริกแสวงบุญในครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้ธรรมทั้ง 4 ซึ่งประกอบไปด้วย วัฒนธรรม สัจธรรม ปฏิบัติธรรม และการได้เห็นธรรม ซึ่งเป็นหลักปรัชญาสากล และเป็นสัจจธรรมที่มนุษยชาติจากทั่วโลกยอมรับ
ในท่ามกลางกระแสการอนุรักษ์ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย การจัดงานในปีนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ร่วมกันนำภาชนะใส่น้ำสะอาดสำหรับดื่มในระหว่างการเดินจาริกขึ้นดอยตุง พร้อมทั้งลดการทิ้งขยะ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ อันเป็นการลดสภาวะโลกร้อนและส่งเสริมการประหยัดรายจ่ายและเพิ่มความปลอดภัยในเชิงสุขภาพและพลานามัยของศาสนนิกชนผู้มาร่วมพิธีอีกด้วย
ขอบคุณภาพบรรยากาศ จาก ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย |