09 มิถุนายน 2014 เวลา 09:42:10 น.

ขั้นตอนการขอพาสปอร์ตสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี

 สำหรับคุณพ่อและคุณแม่ หลายครอบครัวที่กำลังวางแผนพาลูก ๆ ที่เป็นเด็กเล็ก ๆ  ไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก คงกังวลใจไม่น้อยเพราะต้องพาไปทำพาสปอร์ตเป็นครั้งแรก เพราะไม่รู้ว่าเด็กเล็ก ๆ จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ? วันนี้กระปุกดอทคอมเลยไปนำความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำพาสปอร์ตสำหรับเด็ก ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนจะมีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลยจ้า

 เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี มีเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมดังนี้...

1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอหรือเขต หากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง  

2. บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครอง นำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดามารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขต

4. เอกสารอื่น ๆ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนนามสกุล, เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม, บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
 
5. อัตราค่าธรรมเนียม เริ่มต้นราคา 1,000 บาท


กรณีที่บิดาและมารดาไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเอง

        หากผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาดำเนินการได้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริงมาแสดง ทั้งนี้ หนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ต้องผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และมีบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ รวมทั้งหนังสือยินยอมให้ให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต

กรณีบิดา-มารดาหย่า

       ให้นำบันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดา หรือมารดามาแสดงพร้อมสูติบัตร

กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เสียชีวิต บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ มิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ 

       บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ และบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง พร้อมสูติบัตรตัวจริง

ข้อควรปฏิบัติในวันมายื่นคำร้อง

         นำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการยื่นคำร้องกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากเอกสารที่นำมาแสดงไม่ครบถ้วนจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมาแสดงเพิ่มเติมในวันรับเล่ม ซึ่งจะทำให้การรับเล่มล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำมาแสดงเพิ่มเติมลงในระบบให้ครบถ้วน ซึ่งในขั้นตอนของการยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่ มีดังนี้
 
       1. รับบัตรคิว

       2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก (หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง) พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น หากเปลี่ยนชื่อสกุล ต้องมีหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ทะเบียนสมรส ฯลฯ มาแสดง เพื่อตรวจสอบข้อมูล

       - ข้อมูลชีวภาพ (วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้ายและนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า)

       - แจ้งความประสงค์หากต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์

      3. ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (และค่าส่งไปรษณีย์ 40 บาท หากประสงค์ให้จัดส่งทางไปรษณีย์) รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม

 ระยะเวลาการรับหนังสือเดินทาง

       - หากยื่นที่กรมการกงสุล ผู้ร้องสามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

       - หากยื่นที่สำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้าและบางนา) ผู้ร้องจะได้รับเล่มภายใน 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

       - กรณียื่นคำร้องที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัดและขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ผู้ร้อง (ในเขตเมือง) จะได้รับหนังสือเดินทางภายใน 5 วันทำการ

       นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งเครื่องอ่านหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำลอง เพื่อผู้ร้องสามารถทดสอบการผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยอัตโนมัติไว้ 1 เครื่อง ที่กรมการกงสุล ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มารับเล่มด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ถือหนังสือเดินทางมีความคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ และในกรณีจำเป็นสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทนหรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์ (EMS) ได้ 

       ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมการกงสุล consular.go.th 

 

ภาพ และข้อมูล จาก www.chiangraifocus.com