ในแต่ละปี คาดว่ามีผู้ถูกงูพิษกัดในประเทศไทยประมาณ 7,000 ราย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากงูกัดนั้นน้อยมาก เนื่องจากสาธารณสุขได้ขยายไปสู่ชนบทได้ทั่วถึงมากขึ้น และความก้าวหน้าของการรักษา งูพิษที่กัดคนไทยมากที่สุด คือ งูกะปะ รองลงมาคือกลุ่มงูเขียวหางไหม้ อันดับสามคืองูเห่า อันดับสี่คืองูแมวเซา ส่วนงูพิษชนิดอื่น ๆ มีอัตราการกัดหรือทำอันตรายต่อคนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับงูทั้งสี่ชนิดดังกล่าว
การท่องเที่ยวตามพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือ พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆนักท่องเที่ยวควรรู้จักหลักง่ายๆเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากงู
1. การกางกระโจมพักแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ควรพยายามเลือกทำเลที่เป็นที่โล่ง เก็บอาหารไว้ให้ห่างจากบริเวณที่นอน เนื่องจากพวกหนูจะเข้ามากินอาหาร จึงอาจชักนำงูที่กินหนูเป็นอาหารเข้ามาในบริเวณกระโจมได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว
2. ในบริเวณบ้านพักรับรอง ต้องเปิดไฟเพื่อทำการสำรวจทุกซอกทุกมุมก่อนเข้าพัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีงูหลบซ่อนในบ้านพัก ในระหว่างการใช้บ้านพักควรเก็บข้าวของสัมภาระต่างๆให้เป็นระเบียบ ไม่ควรกองสุมกัน เพราะอาจทำให้หนูเข้ามาหาอาหาร และงูเข้ามากินหนูอีกที ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว
3. ในการเดินไปมาระหว่างการท่องเที่ยวควรสวมรองเท้าให้เรียบร้อย ไม่ควรเดินลุยในที่รกทึบ การเดินทางในเวลากลางคืนต้องพกไฟฉายและส่องไฟตลอดเวลาเพื่อป้องกันงู
4. ก่อนจะสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าบู๊ทควรตรวจสอบเสียก่อนว่ามีงูหลบซ่นอยู่ในรองเท้าหรือไม่
5. ควรหลีกเลี่ยงการงัดแงะ ขุด คุ้ย ก้อนหิน ขอนไม้ หรือการใช้มือ เท้า หรือ มุดเข้าไปในโพรงที่ทึบ เนื่องจากอาจมีงูหลบซ่อนอยู่ได้
6. เมื่อเจองูควรหลีกเลี่ยงอยู่ห่างๆ อย่าเข้าใกล้ หากเจองูหรือมีงูเข้ามาในบ้านพักควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ทราบทันที
|