« ก่อนหน้า ถัดไป » |
เมืองโบราณดงเวียงแก่น |
Home » ท่องเที่ยว »
สถานที่ท่องเที่ยว »
อำเภอเวียงแก่น »
เมืองโบราณดงเวียงแก่น |
24051 views
อัพเดทข้อมูลล่าสุด
04 กันยายน 2014 เวลา 12:39:44 |
|
|
Tags :
เมืองโบราณดงเวียงแก่น , เวียงแก่น , ส้มโอเวียงแก่น , คูเมือง , กำแพงดิน , ม่วงยาย , เมืองโบราณ , โบราณสถาน , เมืองเก่า
|
|
| |
เมืองโบราณดงเวียงแก่น ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านม่วง ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแก่น ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 200 เมตร เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนเนินสูงราว 30 – 35 เมตร เนื้อที่ประมาณ 286 ไร่ 1 งาน 86.09 ตารางวา เป็นพื้นที่ป่ารกทึบ มีพืชพันธุ์ทางธรรมชาติ สมุนไพร และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เป็นพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลม่วงยาย
ตำนานสิงหลวัต ได้กล่าวไว้ว่าเขตเมืองผาแดง (เชียงของ) ทางทิศตะวันออก มีแคว้นตั้งแต่เมืองผาแง (ผาแล) ล่องมาถึงแจ๋มแกด (แจมป๋อง) ซึ่งก็ถือได้ว่า เวียงแก่นในอดีต เป็นเมืองบริวารที่ขึ้นตรงกับเมืองผาแดงมาก่อน มีชุมชนเมืองโบราณที่มีสภาพชัดเจนอยู่หลายแห่งพอที่จะศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ได้ เช่น โบราณสถานดงเวียงแก่น ซึ่งเป็นเมืองโบราณมีอายุประมาณ 700 กว่าปี ก่อนหรือหลังสถาปนานครเชียงใหม่เล็กน้อย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 230 ไร่ มีลักษณะการสร้างเมืองเป็นรูปวงรี อยู่บนที่เนินสูง มีกำแพงคูเมืองล้อมรอบ 2 ชั้น คือมีคูด้านนอกกับคูด้านใน คูด้านนอกจะตื้นกว่าคูด้านใน คูด้านในจะลึกประมาณ 10 เมตร รอบตัวเมืองโบราณจะมีการขุดคูล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน คือทางด้านทิศใต้ ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะใช้ลำน้ำงาวใช้เป็นคูเมืองแทน เพราะมีร่องน้ำเดิมปรากฏอยู่บริเวณติดกับเขตของตัวเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังมีคูเมืองด้านนอก และด้านในของทางทิศเหนือ และทิศใต้มาเชื่อมต่อร่องน้ำเดิมอย่างเห็นได้ชัด
ในบริเวณพื้นที่ด้านใน จะมีกำแพงดินและคูเมือง จากทางทิศตะวันออก ผ่ากลางตัวเมืองรูปวงรี ทำให้แบ่งเขตบริเวณพื้นที่ด้านในออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนทางทิศเหนือ และส่วนทางทิศใต้ พื้นที่ทางทิศเหนือจะมีพื้นที่มากกว่าพื้นที่ส่วนทางทิศใต้ บริเวณพื้นที่ทางทิศใต้ จะมีซากของเจดีย์อยู่ 3 แห่งและมีแท่นหินกลม ๆ มีรูอยู่ตรงกลางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 10 เมตร เรียงกันเป็นแถวและมีระยะห่างกันประมาณ 3.40 เมตร สันนิษฐานว่าคงจะเป็นฐานเสาสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนหรือวัด บริเวณใกล้เคียงจะพบบ่อน้ำเก่า ๆ อยู่ห่างจากแท่นหินประมาณ 10 เมตร เป็นบ่อน้ำที่สร้างด้วยอิฐก่อขอบด้านใน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ส่วนบริเวณพื้นที่ทางทิศเหนือ จะมีซากเจดีย์เก่าอยู่ 2 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะถูกขุดเจาะเพื่อหาวัตถุโบราณทุกแห่ง
บริเวณโดยรอบโบราณสถานเมืองโบราณ จะมีประตูทางเข้าออกอยู่ 2 ประตูใหญ่ ๆ คือประตูทางทิศตะวันตก อยู่ในบริเวณทางทิศใต้ของตัวเมืองด้านใน และมีแนวถนนแยกออกเป็นสองทางคือด้านซ้ายมือและทางด้านขวามือ ในเมื่อเดินเข้าประตูทางทิศตะวันตกถนนทางซ้ายมือจะเชื่อมกันกับถนนที่มีทางด้านบริเวณตัวเมืองด้านในส่วนทิศเหนือ ส่วนพื้นที่บริเวณตอนเหนือจะมีประตูเข้าอยู่ 2 ประตู ประตูใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง ประตูเล็กจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ซึ่งดูตามลักษณะแล้วจะเป็นประตูทางเดินขึ้นลง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ประตูหวาย”
บริเวณด้านนอกกำแพงคูเมืองทางทิศเหนือ จะมีซากเจดีย์เก่าอยู่ 2 แห่ง และบริเวณใกล้กับเจดีย์จะพบสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความยาวด้านละประมาณ 10 เมตร
บริเวณด้านนอกกำแพงคูเมืองทางด้านทิศตะวันออก จะมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ 1 แห่ง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า“หนองคัน”ห่างจากกำแพงดินด้านนอกทางทิศตะวันออกประมาณ30 เมตร แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินมากเหลือเพียงเป็นสระน้ำขนาดเล็ก บริเวณล้อมรอบเปลี่ยนเป็นทุ่งนา
บริเวณรอบกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ติดกับลำห้วยจ้อและที่ราบลุ่มซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ป่าข้าวสาร” สันนิษฐานว่าคงจะเป็นแห่งเก็บสะสมเสบียงอาหาร
บริเวณโดยรอบด้านนอกกำแพงคูเมืองด้านทิศตะวันตกติดกับที่ราบลุ่มจนไปถึงลำน้ำงาวในปัจจุบัน
โบราณสถานดงเวียงแก่นในอดีต มีเมืองบริวารล้อมรอบดังนี้
- ทิศตะวันออก มีเมืองเวียงกอย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของบ้านยายใต้ หมู่ที่ 5 ตำบล ม่วงยาย อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่นประมาณ 3.5 กิโลเมตร
- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีเมืองเวียงดึงส์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของบ้านม่วง ตำบลม่วงยาย อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่นประมาณ 2 กิโลเมตร
- ทิศใต้ มีอยู่ 2 เมือง คือเมืองเวียงดงปันฟ้า หัวเมืองทิศใต้ด้านใน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของบ้านไทยพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลม่วงยาย อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่นประมาณ 2.5 กิโลเมตร และเมืองเวียงดงเมือง ซึ่งเป็นบ้านปอกลาง ตำบลปอ ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่น 12 กิโลเมตร
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเมืองเวียงดอยธาตุ ซึ่งอยู่บริเวณเขตรอยต่อ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหล่ายงาว บ้านหลู้ และบ้านทุ่งคำ อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่นประมาณ 2.5 กิโลเมตร
- ทิศตะวันตกมีเมืองเวียงบง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่บ้านหล่ายงาว อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่น ประมาณ 5 กิโลเมตร
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีเมืองโบราณอยู่บ้านแจมป๋อง ซึ่งพบซากเจดีย์เก่าขนาดใหญ่ อยู่ 3 แห่ง และพบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา 1 แห่ง สันนิษฐานว่าคงเป็นเมืองท่าหน้าด่านไม่ทราบแน่ชัดว่าชื่อเดิมคือเมืองอะไร อยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่น 8 .5 กิโลเมตร
- ทิศเหนือมีเมืองเวียงแก้ว อยู่ในเขตบ้านยายเหนืออยู่ห่างจากโบราณสถานดงเวียงแก่น 4 กิโลเมตร
ทุกหัวเมืองรอบนอกโบราณสถานดงเวียงแก่น จะมีสภาพคูเมืองล้อมรอบเหมือนกันหมดเพียงแต่มีพื้นที่น้อยกว่าโบราณสถานดงเวียงแก่น ในลักษณะของเมืองด้านในจะมีพื้นที่ประมาณ 50 - 100 ไร่
|
| จากการเล่าสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษว่า มีเจ้าเมืองเวียงแก่นเป็นผู้ปกครองเมืองต่อมาได้เกิดการทำศึกสงครามกันเกิดขึ้นที่บริเวณที่ราบทางทิศตะวันตกของตัวเมือง มีการรบราฆ่าฟันล้มตายกันเป็นจำนวนมาก จึงมีการเรียกชื่อบริเวณที่รบกันว่า “ทุ่งคาว” ในปัจจุบัน ในการรบครั้งนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารบกับฝ่ายใด ผลปรากฏว่าทหารฝ่ายเจ้าเมืองเวียงแก่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่ข้าศึก เจ้าหลวงเมืองแก่นเห็นผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และเห็นเลือดแดงฉานไปหมด จึงเป็นลมหมดสติและสวรรคต ในเวลาต่อมาหลังจากเมืองถูกข้าศึกยึดแล้วก็ถูกทิ้งเป็นเมืองร้างมาเป็นเวลานาน
ต่อมา หลังจากเจ้าหลวงสกุลหลวงติ๋นมหาวงศ์แห่งเมืองน่าน ได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ.2331 ดินแดนแถบเวียงแก่นได้เริ่มมีคนอพยพมาตั้งรกรากกันใหม่ โดยเจ้าผู้ครองนครน่านปกครองอาณาบริเวณลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งแถบเชียงม่วน ปง เชียงคำ เวียงแก่น เทิง และเชียงของ ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเวียงแก่นส่วนใหญ่จะมาอยู่เป็นครั้งคราวและจำนวนน้อย และต่อมาในสมัยเจ้าหลวงมหายศแห่งเมืองน่าน (พ.ศ.2368-2378) จนถึงสมัยเจ้าหลวงอนันตวรฤทธิเดช (พ.ศ.2395-2334) จึงมีการอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างถาวรมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และมาจากประเทศลาวบางส่วน มาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหลู้ บ้านม่วง บ้านยาย
ประมาณ พ.ศ.2431 ได้มีการจัดระบบการเมืองการปกครองใหม่ มีการแบ่งแยก หมู่บ้าน ตำบล เมือง มลฑล ขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนของอำเภอเวียงแก่นสมัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลม่วงยาย และตำบลปอ โดยขึ้นกับเมืองเชียงของ พ.ศ. 2453 มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายให้เป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นกับกรุงเทพฯ และให้เชียงของมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองเชียงราย ด้วยเหตุนี้ พื้นที่บริเวณเวียงแก่นจึงขึ้นกับเชียงรายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมา พ.ค.2530 จึงมีการจัดตั้งกิ่ง อ.เวียงแก่น โดยแยกออกมาจากอำเภอเชียงของ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่เจ้าเมืองเวียงแก่น ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองเวียงแก่นในอดีตและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่กิ่งอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ ประชาชนจึงได้เสนอชื่อกิ่งอำเภอว่า "กิ่งอำเภอเวียงแก่น" ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแก่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538 | เมืองโบราณดงเวียงแก่น, เวียงแก่น, ส้มโอเวียงแก่น, คูเมือง, กำแพงดิน, ม่วงยาย, เมืองโบราณ, โบราณสถาน, เมืองเก่า |
ข้อมูลติดต่อ : องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงยาย ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
โทร / แฟ็กซ์ 0-5360-8000-1
http://www.padai.org/ |
|
|