ท่าผาถ่าน เป็นท่าเรือเล็กๆสำหรับขนส่งสินค้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในเมืองเชียงของ เป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงมีลักษณะเป็นลานกว้างมีโขดหินเรียงราย นักท่องเที่ยวที่มาชมวิวริมแม่น้ำสามารถเดินจากท่าผาถ่านไปตามเส้นทางคนเดินและจักรยานเลียบแม่น้ำโขงมีระยะประมาณ 1 กิโลเมตร ไปสุดทางเดินที่ท่าเรือเชียงของ และสามารถอ้อมถนนไปที่ท่าเรือบั๊ก ซึ่งเป็นท่าเรือผ่านแดนสำหรับข้ามฝั่งไปยัง สปป.ลาว ได้ บริเวณท่าผาถ่านนี้เองในช่วงเช้าหรือเย็นจะสามารถเห็นวิถีชีวิตของชาวประมงที่ออกมาจับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง เหมาะกับการเดินในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก มีทัศนียภาพที่งดงามและไม่ร้อนเกินไป
มีตำนานเล่าขานที่เกี่ยวข้องกับท่าผาถ่าน โดยกล่าวถึง “ปู่ละหึ่ง” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนลุ่มน้ำ ปู่ละหึ่งมีรูปร่างใหญ่โตเหมือนยักษ์ ครอบครองแผ่นน้ำแผ่นดินน้ำโขงตลอดแม่น้ำบริเวณนี้ ด้วยความที่ร่างใหญ่โต จึงสามารถถอนต้นไม้ใหญ่ ๆ มาสานเป็นกระด้ง เป็นไซ เครื่องไม้เครื่องมือก็ใหญ่โต ส่วนขี้ไถ ขนาดภูดอยเกาะแก่งในเขตสองฟากฝั่งน้ำของเป็นเพียงแค่ก้อนดินจากการไถแปรของปู่ละหึ่งเท่านั้น
มีการเล่าสืบกันมาว่า ปู่ละหึ่งหาบถ่านสองก๋วยด้วยไม้คาน หรือ ไม้กานในภาษาคำเมือง เดินทางขึ้นไปทางเหนือของเมืองเชียงของเมื่อเดินทางไปถึงบริเวณเหนือผากันตุง ไม้กานหักพื้นที่บริเวณที่ไม้กานหักก็คือบ้านเมืองกานซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำของในเขตตำบลริมโขงปัจจุบัน ถ่านที่หาบไปก๋วยหนึ่งตกอยู่บริเวณไม่ไกลจากบ้านเมืองกานนัก เรียกบริเวณนั้นว่า“ผาถ่านหลวง” ส่วนอีกก๋วยตกอยู่ที่ผาถ่านริมท่าเรือวัดหลวงในเขตตำบลเวียงปัจจุบันดูจากตำแหน่งที่ก๋วยทั้งสองตกก็พอให้จินตนาการถึงความใหญ่โตของปู่ละหึ่งได้ว่าสูงใหญ่เพียงไรและหากพิจารณาลักษณะหินที่บริเวณที่ถูกเรียกว่าผาถ่านจะพบว่ามีลักษณะไม่แตกต่างไปจากถ่านเลย และตลอดสองฝั่งแม่น้ำจากเชียงของถึงเชียงแสน
ปัจจุบันทางอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงรายฟื้นตำนาน“ปู่ละหึ่ง”บุรุษร่างใหญ่ของคนลุ่มน้ำ โดยมีการจัดประเพณีแห่ “ปู่ละหึ่ง” โดยจำลองหุ่นร่างยักษ์ สูงกว่า 5 เมตรแต่งกายด้วยชุดโบราณสีดำแดงห้อยลูกปะคำสวมหมวกใบใหญ่มีหนวดเครายาวหน้าตาดุดันถือมีดดาบเล่มใหญ่นั้งบนล้อเกวียนลากโบราณที่ประดับด้วยตุงล้านนา 12 ราศี แห่ไปรอบเมืองรับวันสังขาลล่องในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี ซึ่งขบวนจะเคลื่อนไปสุดยังท่าผาถ่าน
ที่มา : http://www.zthailand.com/place/patan-riverside-chiang-rai/ |