สบท.เตือนใช้บริการโรมมิ่งอันลิมิท ก็หมดตัวได้ หากไม่รู้จักตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกเฉพาะเครือข่ายที่แพ็คเกจกำหนด พบหนุ่มนักศึกษาเที่ยวเกาหลีอาทิตย์เดียว กลับมาเจอบิลกว่าสองแสนบาท เหตุพกไอโฟนไปด้วยและต่อเน็ตตลอดเวลา เพราะนอนใจว่าเลือกแพ็คเกจไม่จำกัดแล้ว
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า การใช้บริการโรมมิ่งยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ร้องเป็นนักศึกษาเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีเพียง 6 วัน โดยพกโทรศัพท์ไอโฟนพร้อมสมัครใช้แพ็คเกจอันลิมิต แต่กลับมาถึงเมืองไทยถูกเรียกเก็บค่าโทรศัพท์จากการใช้บริการดาต้าเป็นเงินสองแสนกว่าบาท เพราะเครื่องไปเลือกจับสัญญาณเครือข่ายนอกแพ็คเกจเป็นบางช่วง
“แพ็คเกจอันลิมิทหรือแพ็คเกจไม่อั้นทั้งหลายเป็นแพ็คเกจที่บริษัทมักจะเลือกทำสัญญากับเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งในประเทศปลายทาง ไม่ใช่ทุกเครือข่าย เช่นถ้าเครือข่ายของไทยไปเลือกทำสัญญาการเชื่อมสัญญาณกับ 10 บริษัท บริษัทไทยจะเลือกทำสัญญาอันลิมิตแค่บริษัทเดียว อีก 9 บริษัทไม่ใช่ ดังนั้นเมื่อไปถึงปลายทางผู้ใช้ต้องตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้นด้วยถึงจะอันลิมิทจริง “ ผอ.สบท. กล่าว
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเลือกเครือข่ายได้ถูก ล็อคเครือข่ายได้สำเร็จ การจะใช้ในปริมาณเท่าไหร่ก็จะอยู่ในโปรโมชั่นที่เลือกไปคือ อันลิมิทอาจจะราคา 1,500 หรือ3,000 บาท ไม่เกินนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ล็อคเครือข่าย แล้วเครื่องไปจับสัญญาณเครือข่ายอื่นก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขอันลิมิทและจะกลายเป็นว่า ใช้เท่าไหร่ก็ต้องจ่ายเท่านั้นและคิดตามปริมาณข้อมูลด้วย อย่างเกาหลี ญี่ปุ่นหรืออเมริกา ซึ่งมีบริการ 3G เพราะฉะนั้นข้อมูลจะไหลเร็วมาก เช่นรายนี้เพียงไม่กี่วันที่เครื่องจับสัญญาณดาต้านอกเครือข่ายพบว่าใช้ไปกว่า400 เมกกะไบต์ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเมกะไบต์ละ 500 กว่าบาท ขณะที่มีการใช้ในเครือข่ายที่กำหนด 180 เมกะไบต์ ส่วนนั้นถูกเรียกเก็บตามแพ็คเกจ 1,750 บาท
ผอ.สบท.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การจำกัดวงเงินสูงสุดไว้ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากเพราะปัจจุบันการรายงานการใช้บริการระหว่างประเทศยังทำได้ไม่ตรงตามเวลาที่ใช้จะมีการล่าช้าของการแจ้งผล
“โดยหลักทางเทคนิคค่าใช้จ่ายในต่างประเทศไม่ได้โอนข้อมูลมาเป็นวินาทีอาจรายงานเป็นวันหรือ 24 ชั่วโมง เช่นทำการจำกัดไว้ที่ 5,000 บาท แต่พอใช้ในต่างประเทศวันแรกเป็นแสน แล้วผ่านไปวันหนึ่ง ต่างประเทศเพิ่งแจ้งกลับประเทศไทย เพราะมีการดีเลย์ของข้อมูล ไม่เหมือนอยู่ในเมืองไทยเพราะบริษัทในเมืองไทยคุมค่าใช้จ่ายเองพอถึง 5,000 ก็ตัดได้เลย แต่กรณีโรมมิ่งไม่ใช่ เพราะข้อมูลกว่าจะส่งผ่านมาจะมีความล่าช้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ดังนั้นต่อให้ควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ก็อย่าชะล่าใจ เพราะต่อให้มีการใช้เกินวงเงินแล้วเครื่องก็จะยังไม่ตัดยังใช้ได้อยู่” นายประวิทย์กล่าว
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศและสมัครใช้บริการโรมมิ่งควร สอบถามชื่อเครือข่ายที่เราต้องใช้เมื่ออยู่ต่างประเทศ แล้วเมื่อไปถึงให้ตั้งระบบเครื่องด้วยตัวเองให้ล็อครับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้น รวมถึงสังเกตหน้าจอขณะใช้บริการเป็นระยะๆว่า เครื่องรับสัญญาณของเครือข่ายใดอยู่ นอกจากนี้อาจใช้วิธีการซื้อซิมการ์ดในประเทศนั้นๆแทน เพราะโดยส่วนใหญ่ค่าบริการจะถูกกว่า
“ถ้าเราต้องการติดต่อสื่อสาร มันไม่ได้มีเครื่องมือเดียว ไม่ได้ต้องเอาโทรศัพท์เราไปโรมมิ่งต่างประเทศ เพราะในประเทศนั้นเค้าก็มีซิมขาย ส่วนใหญ่ค่าบริการมักจะถูกกว่าค่าบริการโรมมิ่ง ยกตัวอย่างถ้าชาวต่างชาติมาไทย เค้าซื้อซิม เอไอเอส ดีแทค เค้าจะจ่ายถูกเหมือนเรา ดังนั้นหากเราไปต่างประเทศเราก็ต้องคิดเหมือนกันว่า บ้านเค้ามีซิมอะไรหรือไม่ประเภทอันลิมิทหกเจ็ดร้อยบาท ขณะที่ใช้โรมมิ่งของประเทศเราเนี่ยกลับมาโดนไปสามสี่แสน ดังนั้นเราต้องฉลาดที่จะเลือกด้วย” นายประวิทย์กล่าว
|