ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จังหวัดเชียงราย – พะเยา ขอความเป็นธรรมด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ ๑๕,๐๐๐ บาทต่อ รมว.ศธ.
เมื่อวันที่ ๒๐ ส.ค.๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทีมข่าว pariyatcr.debthai.net ได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจังหวัดเชียงราย (ปส.ชร.) โดยได้พบกับพระครูวิมลศิลปกิจ ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจังหวัดเชียงราย เพื่อขอทราบความคืบหน้าของการพัฒนาโรงเรียนหรือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ทีมงานได้รับการแถลงข่าวจากประธานกลุ่ม ปส.ชร.ว่า วันนี้ ( ๒๐ ส.ค.๕๔) เวลา ๐๙.๑๕ น. คณะผู้บริหารและครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจังหวัดเชียงรายและพะเยา พร้อมด้วยนายกมลชัย ใจสิทธิ์ ประธานชมรมครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จังหวัดเชียงราย (ชปส.ชร.) ได้นำคณะครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จังหวัดเชียงรายและพะเยา เข้ามอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีต่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรัฐมนตรีคนเหนือ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย พร้อมกันนั้น ประธานชมรมครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จังหวัดเชียราย ได้ยื่นหนั้งสือเปิดผนึกถึง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอความเป็นธรรมด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการของครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ซึ่งปัจจุบันครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลเลย เช่น ค่าตอบแทนครูก็ไม่ได้เต็มวุฒิ สถานภาพความมั่นคงทางวิชาชีพไม่มี สวัสดิการก็ไม่ได้รับ ต้องถวายฎีกาทูลเกล้าฯ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ.๒๕๕๒ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็รับพระราชกระแสของพระองค์ไปแล้ว แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรคืบหน้า ทำให้ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเดือดร้อนมาก ยิ่งภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันยิ่งต้องรับภาระหนักเพิ่มขึ้นอีก จึงขอให้รัฐบาลได้ช่วยให้ความเป็นธรรมแก่ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาด้วย
นายกมลชัย ใจสิทธิ์ ได้กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลนี้ได้หาแนวทางบรรจุครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ เป็นพนักงานของรัฐ หรือ ลูกจ้างของรัฐ เพื่อสนองพระราชกระแสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นห่วงพระทัยในเรื่องนี้มาก ซึ่งทุกปีที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ แต่ละปี พระองค์จะได้รับการถวายรายงานเรื่องสถานภาพและสวัสดิการของครูทุกครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลได้หาแนวทางช่วยเหลือด้วย ในเบื้องต้นอยากให้ช่วยเหลือครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาที่อยู่ในโครงการตามพระราชดำริก่อน โดยได้รับค่าตอบแทน ๑๕,๐๐๐ บาท ตามนโยบายของรัฐบาล แล้วหาแนวทางช่วยเหลือทั่วประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ประธานชมรมครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จังหวัดเชียงราย ยังได้กล่าวต่อว่า ถ้าจะให้ดีนั้น รัฐบาลต้องช่วยพลักดันให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาด้วย จะเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งในปัจจุบัน
สำหรับความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาครูสอน เจ้าหน้าที่นั้นในเดือนสิงหาคม ๕๔ นี้มี ๓ รายการ ได้แก่
๑. วันที่ ๑๘-๑ ส.ค. ๕๔ จัดกิจกรรมพัฒนาเจ้าหน้าที่การเงินการบัญชี โดยเชิญวิทยากรจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย (พศจ.ชร.) ให้การอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำบัญชีการเงิน การบัญชีให้ถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ณ ห้องประชุมรัตนชัยคุณานุสรณ์ โรงเรียนเวียงชัยพิทยา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
๒. วันที่ ๒๙-๓๐ ส.ค.๕๔ ร่วมกับ มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว เชียงราย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การผลิตสื่อการสอน ICT การสร้าง Animation แก่ครูสอนคอมพิวเตอร์” โปรแกรม Flash & Authorware ณ ห้องคอมพิวเตอร์ ชั้น ๒ มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว เชียงราย
๓. วันที่ ๓๑ ส.ค.๕๔ จัดกิจกรรมพัฒนาครูสอนภาษาไทย ผ่านวีดีโอ Conference โดยวิทยากรตรงจากศูนย์ภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดดำเนินการ
ส่วนเดือนกันยายนนั้น จะพัฒนาผู้บริหาร วิชาการ ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป.
ปัญหาและแนวทางแก้ไข ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เพื่อขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพครู
-------------------
ข้อมูลพื้นฐาน
๑. จำนวนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาทั่วประเทศ ๕๐๐ กว่าโรง
๒. จำนวนนักเรียนที่เป็นพระภิกษุสามเณร รวมกว่า ๕๐,๐๐๐ รูป
๓. จำนวนครู บุคลากรทางการศึกษา ประมาณ ๓,๐๐๐ รูป/คน
ปัญหาในปัจจุบันของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
๑. ด้านครูสอน
๑.๑ ครูสอน (คฤหัสถ์) ทุกคนมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพครูครบถ้วน แต่ไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำหนด เช่น ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ค่าสวัสดิการ การรักษาพยาบาล ค่าครองชีพ เป็นต้น
๑.๒ สถานะภาพและสวัสดิการครูและบุคลากรของโรงเรียน เป็นเพียงลูกจ้างของวัดที่ได้รับเงินค่าจ้างไม่เหมาะสมกับวุฒิการศึกษา ถึงแม้จะมีคุณวุฒิความเป็นครูอย่างสมบูรณ์ก็ตาม ทำให้เกิดปัญหาสมองไหล
๑.๓ ต้นสังกัดไม่มีบุคลากรมาพัฒนาศักยภาพ คุณภาพครู คือไม่มีศึกษานิเทศก์มาแนะนำแนะแนว ซึ่งปัจจุบันได้ไปพึ่งพา สพท. ก็ไม่ได้ เขาบอกว่าไม่ใช่สถานศึกษาในสังกัด
ฯลฯ
๒. ด้านนักเรียน
๒.๑ เด็กเยาวชนที่บวชเรียน ไม่ได้รับสวัสดิการจากทางรัฐอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกับเด็กเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ เอกชน เช่น นมโรงเรียน นักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ไม่เคยได้เลย หรือสิทธิอื่น ๆ ก็ไม่ได้รับ เหมือนประหนึ่งว่าสามเณรเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย หรือเด็กเยาวชนที่อยู่ในประเทศไทย
๒.๒ สิทธิการในเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาที่นักเรียนอยากเรียนก็ถูกจำกัดสิทธิไว้มิให้เรียน ถ้าจะเรียนต้องสึกจากเพศบรรพชิตก่อน ทำไมรัฐไม่เปิดกว้างให้เด็กเยาวชนทุกคนให้เสมอภาคกัน
๒.๓ ด้านวิชาการ ไม่มีโอกาสที่จะแสดงความสามารถร่วมกับเด็กเยาวชนในสังกัดอื่น ๆ เนื่องจากเขาเลือกสถานศึกษาผิด ที่ไม่เรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ
ฯลฯ
๓. ด้านสถานภาพของโรงเรียน
๓.๑ สถานศึกษาไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ต้นสังกัดเพียงหลอกให้ดีใจไปวัน ๆ และจะเคลื่อนไหวทีก็ต่อเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยี่ยมโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ นิดหนึ่งเพื่อถวายรายงานเท็จต่อพระองค์ท่านฯ ทั้ง ๆ ที่ได้ทรงรับทราบฝ่าพระบาทพระองค์ว่าจะให้สถานภาพและสวัสดิการแก่ครู เจ้าหน้าที่คฤหัสถ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนปัจจุบัน เหมือนครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ มิใช่คน หรือเพราะเขาเลือกสถานที่ทำงานผิด ที่เลือกงานพระพุทธศาสนา
ความต้องการ
๑. ต้องการได้รับค่าตอบแทน และสวัสดิการ ที่เหมาะสมกับวิชาชีพครูเช่นครูสังกัดอื่น ๆ
๑.๑ ค่าตอบแทน
ควรได้รับค่าตอบแทนจากรัฐตามที่รัฐกำหนดไว้ให้ผู้ที่จบปริญญาตรี (๑๕,๐๐๐ บาท) เพราะปัจจุบันร้อยละ ๙๐ ได้รับเพียงเดือนละ ๕,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท จากหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่โรงเรียนตั้งอยู่
๑.๒ สวัสดิการของครอบครัว
ควรได้รับสวัสดิการของรัฐเช่นครูสอนสังกัดอื่น ๆ โดยบรรจุเป็นพนักงานประจำ/พนักงานของรัฐ ลูกจ้างประจำของรัฐก็ยังดี ซึ่งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ จนปัจจุบันไม่เคยได้รับเลย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าคลอดบุตร ฯลฯ
๑.๓ ให้มีศึกษานิเทศก์โรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัด
ศึกษานิเทศก์จะได้คอยแนะนำ นิเทศก์ครูสอน และพัฒนาศักยภาพ คุณภาพครูสอนดีขึ้น
๒. ต้องการพระราชบัญญัติว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. .................
ซึ่งถ้ามีพระราชบัญญัติฯ จะทำให้มีกฎหมายรองรับ คุ้มครองทุกส่วนของโรงเรียน เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง เกิดความมั่นคงได้เพราะมี พ.ร.บ.รองรับ แต่ปัจจุบันต้นสังกัดไม่มีคนคิดเลย หรือคิดแต่ไม่ลงมือทำ โดยอ้างพระมหาเถระมาบังหน้า สมัยสังกัดกรมการศาสนางานราบรื่นกว่านี้มาก
๓. ต้องการให้รัฐมีมติ ครม.ให้ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพนักงานของรัฐ สนองพระราชกระแสฯ
เนื่องจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา เป็นสถานศึกษาที่อยู่ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนฯ พระองค์ทรงเป็นห่วงครูสอน คฤหัสถ์ที่ได้รับค่าตอบแทนไม่เต็มวุฒิการศึกษา แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับพระราชกระแสไว้ว่าจะให้สถานภาพของครูปริยัติธรรมฯ ในทุกด้าน แต่ยังไม่บรรลุ จึงอยากให้รัฐบาลได้สนองพระราชกระแสโดยเบื้องต้นให้มีมติ ครม.บรรจุครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ที่อยู่ในโครงการตามพระราชดำริเป็นพนักงานของรัฐ หรือลูกจ้างประจำของรัฐ ได้รับค่าตอบแทน ๑๕,๐๐๐ บาท ตามนโยบายของรัฐบาล
นายกมลชัย ใจสิทธิ์ ประธานชมรมครูสอนพระปริยัติธรรมฯเชียงราย โทร 0869242903 |