สาธารณสุขพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด สั่งการให้สาธารณสุขร่วมกับ อสม.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในหมู่บ้านทุก 7 วัน หากไม่มียุงก็จะไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เตือนให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่มีอันตรายสูง คือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนะอย่าให้ถูกยุงกัด นอนในมุ้ง หากป่วยมีอาการไข้สูงไม่ลดใน 2 วัน ต้องพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า ขณะนี้มีฝนตกชุก อาจมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังเพาะพันธุ์ยุงลาย ตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก ประชาชนทุกคนมีโอกาสถูกยุงลายกัด และเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด 2 กลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หากป่วยเป็นไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2554 จำนวน 23,324 ราย พบมากสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 10-24 ปีร้อยละ 52 โดยพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีป่วย 647 ราย ส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปป่วย 190 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 13 ราย จากการสอบสวนโรค พบว่าทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด โดยจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงที่สุดในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคมทุกปี สำหรับจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่มกราคม – 20 สิงหาคม 2554 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 361 ราย เสียชีวิต 1 ราย
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการ 2 เรื่องหลัก คือ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายขาด ป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด กำชับให้แพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัด ตรวจผู้ป่วยทุกวัยอย่างละเอียด และ2.การป้องกันโรค เน้นป้องกันไม่ให้ยุงกัด เด็กเล็กที่นอนกลางวัน ต้องนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด เนื่องจากยุงลายจะออกหากินเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงพลบค่ำ และได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอสม. รณรงค์ให้บ้านทุกหลังทุกชุมชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งภายในบ้านและรอบบ้าน ต่อเนื่องทุก 7 วัน หากทุกพื้นที่ไม่มียุงลาย ก็จะไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า อาการของโรคไข้เลือดออกจะแตกต่างจากโรคอื่น คือ มีไข้สูงติดต่อกัน 2-7 วัน ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก เด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะดูแลยาก บางรายจะปวดท้อง ถ่ายเหลวร่วมด้วย ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่ามีปัญหาลำไส้อักเสบ และเด็กบอกอาการไม่ได้ อาการที่ต้องสังเกตใกล้ชิดมี 2 ช่วง ได้แก่ช่วงที่มีไข้สูง ตัวร้อนมาก หลังให้กินยาลดไข้ยาพาราเซตามอล หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน เด็กร้องกวนมาก ไม่กินนม ให้คิดว่าอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก ช่วงที่ 2 คือช่วงที่ไข้ลดลงหลังมีไข้ประมาณวันที่ 3 หรือวันที่ 4 ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสดชื่นขึ้น กินอาหารได้ แต่จะมีร้อยละ 2-5 อาจมีอาการซ็อก โดยผู้ป่วยจะซึมลง เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก ปวดท้อง อาเจียน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ถ่ายปัสสาวะน้อยลง ในเด็กเล็ก จะไม่ดูดนม ร้องกวนตลอดเวลา ส่วนผู้สูงอายุ อาการจะรุนแรงกว่าวัยอื่นโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกันและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและรักษาได้อย่างทันท่วงที |