ตลาดไท-ตลาดสี่มุมเมือง แหล่งกระจายสินค้าใหญ่จมน้ำ แถมทางการจีนประกาศให้เรือจีนหยุดวิ่งขึ้นลงเชียงรุ่ง-เชียงแสน ทำการนำเข้าผืช ผักผลไม้จากจีนผ่านชายแดนเชียงรายชะงัก แต่การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3a จากจีนตอนใต้-สปป.ลาว-เชียงของกลับคึกคัก
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า หลังรัฐบาลจีนประกาศให้เรือสินค้าแม่น้ำโขงหยุดแล่นให้บริการตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงท่าเรือ อ.เชียงแสน ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร เพราะเกิดเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธปล้นและยิงคนบนเรือจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ศพ เมื่อ 5 ต.ค.54 ที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย สปป.ลาว พม่า และจีนตอนใต้ อย่างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากเรือสินค้าส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นสัญชาติจีน ซึ่งมีความชำนาญด้านการเดินเรือแม่น้ำโขง โดยที่ผ่านมามีเรือขนสินค้าตั้งแต่ 100-300 ตันของจีนในแม่น้ำโขงประมาณ 100 ลำ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเรือ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเรือบรรทุกโคกระบือ เรือท่องเที่ยวและขนสินค้าได้ครั้งละประมาณ 100 ตันเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีเพียงเรือเหล่านี้แล่นไปมาในระยะใกล้ๆ ตั้งแต่ท่าเรือเชียงกก เมืองมอม ต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มายังท่าเรือ อ.เชียงแสน และไปทาง อ.เชียงของ บ้างเล็กน้อยส่งผลให้บรรยากาศซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด
นายสุวัฒน์ ด้วงปั้น นายด่านศุลกากร อ.เชียงของ อ.เชียงของ ระบุว่า แต่หลังเกิดเหตุดังกล่าว การค้าชายแดนด้าน อ.เชียงของ กลับเพิ่มมูลค่ามากขึ้น จากเดิมในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมามีมูลค่าการค้ารวม 4,938,117,665.78 บาท ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2554 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,199,454,154.55 บาท แยกเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,268,311,388.94 บาท และส่งออก 5,931,142,765.61 บาท โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นพืชผัก ถ่านหินลิกไนต์ ผลไม้ ดอกไม้ ฯลฯ และสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ
นอกจากนี้ หลังจากที่เรือสินค้าแม่น้ำโขงหยุดแล่นก็ได้ทำให้สินค้าส่วนใหญ่หันไปใช้ถนน R3A ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร ผ่าน อ.เชียงของ ข้ามไปยังเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อไปยังจีนตอนใต้แทนการขนส่งทางเรือ
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่เรือแล่นหยุดแล่นใหม่ๆ ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.54ที่ผ่านมา ก็ได้มีสินค้าส่วนหนึ่ง ซึ่งได้มีการตกลงซื้อขายกันแล้ว จำเป็นต้องขนส่งมาให้กับลูกค้า ได้หันไปใช้ถนน R3A ผ่านด่านศุลกากรเชียงของแทน จึงทำให้มูลค่าการค้าช่วงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกความชัดเจนได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในการขนส่งในช่วงนั้นเท่านั้น แต่ความชัดเจนจริงๆ คงจะปรากฏให้เห็นตั้งแต่เดือน พ.ย. 54 นี้เป็นต้นไป
"ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเรือสินค้าจีนหยุดแล่นก็ได้มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขการค้าชายแดนด้าน อ.เชียงของ จะเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 1 หมื่นล้านบาทเศษขึ้นไป แต่เมื่อเรือจีนแล่นไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้ตัวเลขเพิ่มทะลุมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน แต่จะถึงระดับใดนั้นคงต้องรอการวิเคราะห์ตัวเลขช่วงต่อไปอีกครั้ง เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น ความจำเป็นในการขนส่ง ราคาค่าขนส่งทางบกซึ่งทราบว่าแพงกว่าทางเรือน้ำโขงมาก เป็นต้น" นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย และผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงของ กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าชายแดนด้าน อ.เชียงของ ผ่านทางถนน R3A คึกคักอย่างมากเพราะไม่มีเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง ทำให้ที่ด่านเชียงของพบสินค้าตัวใหม่ๆ ที่เคยขนส่งทางเรือมากขึ้น เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ มันฝรั่ง ฯลฯ ซึ่งปกติจะขนส่งทางเรือก็หันมาบรรทุกกับรถบรรทุกบนถนน R3A มากขึ้น แต่ลักษณะการขนส่งจะแตกต่างออกไปเพราะไม่ต้องใช้รถคอนเทนเนอร์ตู้เย็นแบบพืชผัก แต่ใช้รถบรรทุกปกติทั่วไปเท่านั้น
การขนส่ง ก็ยังคงใช้รถบรรทุกแพขนานยนต์ ข้ามน้ำโขง ไปรับสินค้าที่ด่านจีน-สปป.ลาว ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว จากนั้นเดินทางกลับมาข้ามแพขนานยนต์ที่ อ.เชียงของ เพื่อนำไปกระจายยังตลาดในประเทศไทยต่อไป
สภาพเช่นนี้ทำให้ด่านพรมแดนเชียงของคึกคักด้วยรถยนต์บรรทุกจำนวนมากจากเดิมมีเพียงรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ตู้เย็นก็กลายเป็นบรรทุกพ่วง แพขนานยนต์ในฝั่ง สปป.ลาว ที่มี 1 ลำ และฝั่งไทยอีก 4 ลำ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชายแดนทั้งสองฝั่งต้องทำงานกันอย่างหนักไม่ได้หยุดหย่อน
นางจุรารัตน์ ชัยสวัสดิ์ ผู้ประกอบการชิปปิ้ง อ.เชียงของ กล่าวว่า แม้การค้าจะมีความคึกคักมากขึ้น แต่เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญของพืชผักจากประเทศจีนก็ถูกน้ำท่วมไปด้วย ดังนั้นการนำเข้าสินค้าประเภทพืชผักจากจีนในช่วงนี้จึงชะลอลงมาก โดยมีการชะลอการนำเข้าไปหลายรายการและปริมาณก็ลดน้อยลง จากเดิมที่เคยมีการนำเข้าวันละ 10-15 ตู้คอนเทนเนอร์ๆ ละ 40 ฟุต ก็ลดจำนวนลงเหลือวันละเพียง 2-3 ตู้โดยพืชผักที่พอนำเข้ามาได้ถูกส่งไปยังตลาดแห่งอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ราชบุรี ฯลฯ ซึ่งก็มีตลาดขนาดใหญ่รองรับเช่นกัน แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติการนำเข้าพืชผักก็คงจะคึกคักเหมือนเดิมต่อไป |