สาธารณสุข เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2554 เน้นการป้องกันโรคในเด็กเกิดใหม่ ลงทุนตรวจเลือดหาความผิดปกติเพียงไม่ถึง 50 บาท เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย เป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคชนิดรุนแรงได้ไม่น้อยกว่า 6,000 รายใน 5 ปี ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาล ตลอดอายุขัยได้กว่า 42,000 ล้านบาท
เช้าวันนี้(27 ตุลาคม 2554) ที่โรงแรมลักษวรรณ รีสอร์ท จ.เชียงราย นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดการประชุมวิชาการการควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย จังหวัดเชียงราย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากร เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย ประสบผลสำเร็จตามนโยบายการพัฒนาของกระทรวงสาธารณสุข และนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องชัณสูตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายแพทย์ชำนาญกล่าวว่า ธาสัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างมาก ไทยมีประชากรที่เป็นพาหะโรคนี้ประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีรูปร่างหน้าตาปกติ ร่างกายแข็งแรง แต่พร้อมจะถ่ายทอดความผิดปกติให้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ ส่วนผู้ป่วยธาลัสซีเมียพบร้อยละ 1 ของประชากรหรือประมาณ 630,000ราย และแต่ละปีมีคู่สมรสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคชนิดรุนแรง 17,012 คู่ ในจำนวนนี้มีโอกาสคลอดลูกเป็นโรคชนิดรุนแรงที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดชีวิตปีละ 4,253 ราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายละ 6.6 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียรุนแรงปานกลาง จำเป็นต้องรับเลือดและยาขับเลือด เป็นประจำทุกเดือน ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท
จากการศึกษาค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรคในคู่สมรส พบมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 48.28 บาท กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญในด้านนี้มาก โดยจัดให้บริการป้องกันและควบคุมโรคในหญิงตั้งครรภ์ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ต้องจ่ายค่าตรวจ พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติพ.ศ. 2550-2554
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.พัฒนาระบบป้องกันและควบคุมโรคให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีลูกปลอดจากโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ขณะนี้มีโรงพยาบาลให้บริการค้นหาคู่สมรสที่มีความเสี่ยง 827 แห่ง การให้ความรู้ในโรงเรียนและการตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย
2.พัฒนาระบบการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐาน
3.พัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัย สามารถตรวจได้ครบทุกขั้นตอนและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
4.วิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค
และ5.การควบคุม กำกับ ประเมินผล เพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนางาน
ตามแผนงานดังกล่าวคาดว่าจะป้องกันไม่ให้เด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2554 หรือลดได้ไม่น้อยกว่า 6,370 คน
ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ไม่น้อยกว่า 42,042 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ระบบการป้องกันควบคุมโรคของประเทศมีความเข้มแข็ง สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้น้อยลงและหมดไปในที่สุด อีกทั้งขณะนี้ความรู้และเทคโนโลยีด้านธาลัสซีเมียมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ |