สาธารณสุขเผย ความสุขของคนเรามาจากพันธุกรรมร้อยละ 50 จากการคิดและการกระทำร้อยละ 35-40 จากปัจจัยภายนอกร้อยละ 10-15 สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 1-7 พฤศจิกายนนี้ แนะให้ประชาชนหันมาฝึกหัดสร้างวิธีคิดที่ดีๆในแง่บวก ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ให้เกิดเป็นความภูมิใจ รวมทั้งจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้รู้สึกเป็นสุข โดยเฉพาะช่วยกันบริจาคเงิน สิ่งของ หรือให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย นอกจากได้บุญแล้วยังได้ความสุขอีกทางหนึ่งด้วย
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต ได้กำหนดให้วันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ในปีนี้ใช้หัวข้อการรณรงค์ว่า “ความสุข สร้างได้” สาระสำคัญเป็นการจัดกิจกรรมปลุกกระแสสังคม กระตุ้นเตือนประชาชน บุคลากรภาครัฐและเอกชน เห็นความสำคัญของการมองปัญหาในมุมบวก และสร้างขวัญกำลังใจให้เป็นพลังที่จะก้าวผ่านวิกฤตที่เข้ามาในชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้สุขภาพจิต และแนวทางการปฏิบัติตนเสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ให้ประชาชนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือภัยพิบัติต่างๆ ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนที่จะก้าวผ่านวิกฤตชีวิต ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ในยุคสังคมไทยขณะนี้ เนื่องจากผลพวงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งภัยทางธรรมชาติ และเศรษฐกิจ ทำให้ต้องปรับตัวมากขึ้น เกิดความเครียดแล้วแต่สภาพจิตใจของแต่ละคนที่จะรับได้ ซึ่งในทางสุขภาพจิตมีความเห็นว่า คนเราควรมีความสุขพอประมาณ ไม่ขึ้นๆลงๆ รู้สึกเป็นสุขส่วนใหญ่ในการดำรงชีวิต และควรเป็นความรู้สึกที่เกิดจากภายในจิตใจ จึงจะเป็นความสุขที่ยั่งยืน
จากเอกสารทางวิชาการของนักจิตวิทยาตะวันตกกล่าวไว้ว่า ความสุขของคนนั้น มีอิทธิพลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมถึงร้อยละ 50 แปลว่า คนที่มีความสุขนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวถึงครึ่งหนึ่ง อีกร้อยละ 35-40 เป็นจากวิธีคิด การกระทำ หรือเรียกว่าปัจจัยภายในบุคคล อีกร้อยละ 10-15 เป็นความสุขจากสถานการณ์ชีวิตหรือปัจจัยภายนอก จึงสรุปได้ว่าคนที่มีความสุข นอกจากจะมีคุณสมบัติมาแต่เกิดหรือพันธุกรรม ก็สามารถฝึกหัดสร้างวิธีคิดที่ดีๆหรือความคิดในแง่บวก กระทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ให้เกิดเป็นความภูมิใจในตนเอง รวมทั้งการจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้รู้สึกเป็นสุข คนเราก็จะมีความสุขได้ทุกคน
ในปี 2552 สถาบัน New Economic Foundation ได้จัดอันดับความสุขโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ตามหลังจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และลาว จากการจัดทำครั้งแรก พ.ศ.2549 ประเทศที่มีความสุขที่สุดคือ ประเทศภูฏาน ต่อมาก็ประเทศวานูอาตู ในปี 2552 เป็นประเทศคอสตาริกา ส่วนการจัดอันดับในประเทศไทย ปี 2553 จังหวัดที่มีค่าคะแนนความสุขมากที่สุดหรือจังหวัดสุขมาก 5 ลำดับ คือ พังงา ตรัง มหาสารคาม นราธิวาส และตาก ส่วนจังหวัดสุขน้อย 5 ลำดับแต่มี 6 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ภูเก็ต สระแก้ว แม่ฮ่องสอนและนครนายก ซึ่งผลสำรวจยังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับปัจจัยระดับบุคล สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ สรุปประเด็นสำคัญดังนี้ เพศชายมีความสุขมากกว่าหญิง ผู้ที่มีคู่สมรสมีความสุขมากกว่าคนเป็นโสด หม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่ ผู้ไม่ได้เป็นหัวหน้าครัวเรือนมีความสุขมากกว่าหัวหน้าครัวเรือน อาชีพ
เกษตรกรที่ไม่มีหนี้มีความสุขมากกว่าอาชีพอื่นๆ ครอบครัวที่มีเวลาให้แก่กันมีความสุขมากกว่าครอบครัวที่มีเวลาให้กันน้อย ผู้ที่ให้บริจาคหรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุขมากกว่า ผู้ที่เคร่งศาสนาหรือปฏิบัติตามหลักศาสนามีความสุขมากกว่า
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้กล่าวว่า คนที่มีความสุขคือ คนที่มีสุขภาพจิตดีนั่นเอง ดังนั้นในสถานการณ์ที่ประเทศประสบปัญหาอุทกภัย มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากในขณะนี้ ขอเชิญชวนร่วมกันให้กำลังใจ หรือบริจาคเงินหรือสิ่งของตามกำลังของตนเอง ก็จะส่งผลให้มีความสุขได้ทางหนึ่ง นายแพทย์ชำนาญกล่าว |