หอการค้าพะเยา แนะชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัว พลิกวิกฤตเป็นโอกาสคาดโกยนับ 100 ล้าน เหตุพื้นที่ปลูกพืชภาคกลาง 7-8 จว.จมบาดาล
นายหัสนัย แก้วกูล ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เปิดเผยแนวคิดหลังจากที่มองเห็นแล้วว่าหลังจากนี้ไป ตนคิดว่า เกษตรกรชาวพะเยาหรือจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ถูกน้ำท่วม ซึ่งมีแหล่งน้ำสามารถทำการเกษตรได้ ควรถือจังหวะนี้พลิกวิกฤตน้ำท่วมเป็นโอกาส โดยใช้พื้นที่ทำกินหลังฤดูกาลทำนา เก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพด เสร็จสิ้นแล้ว หรือมีพื้นที่ว่าง ผมคิดว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 10,000-20,000 ไร่ นำมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ที่มีอายุสั้นประมาณ 45 วัน ซึ่งเก็บเกี่ยวได้ ปลูกเพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้ในระยะสั้น ตลอดจนระยะยาวด้วย
ปธ.หอการค้า กล่าวต่อว่า โดยพืชผักสวนครัวที่ควรจะปลูก เช่น ต้นหอม ผักชี คะน้า มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ถั่วฝักยาว บล็อกเคอรี่ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว แตงกวา บวบเหลี่ยม ฯลฯ คือ ควรเป็นพืชสวนครัวที่อายุสั้นทำให้เก็บเกี่ยได้รวดเร็ว และเหมาะสมสำหรับปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่พืชที่ไม่ควรปลูกคือ กะหล่ำปลี เพราะมีช่วงการเติบโตนานกว่าจะได้เก็บเกี่ยว หากจะปลูกก็ไม่ควรมากนัก ซึ่งพืชสวนครัวอายุสั้นเหล่านี้ จะมีราคาตามท้องตลาดอยู่ กก.ละ 15 บาท ขึ้นไป ผลผลิตต่อไร่ ไม่ต่ำกว่า 1-.15 ตัน หรือ 1,000-1,500 กก.
นายหัสนัย กล่าวอีกว่า ด้วยจำนวนพื้นที่ ต้นทุนน้ำ ความขยัน ศักยภาพในการทำการเกษตรกรรมของ เกษตรกรชาวพะเยา ผมเชื่อว่า แนวทางนี้จะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าของพืชผักสวนครัว อย่างน้อยไร่ละ 10,000 บาทขึ้นไป หากมองในภาพรวมมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นแก่เกษตรกรหลังฤดูกาลทำนาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ตรงนี้ผมคิดบนพื้นฐานของการใช้ปุ๋ยเคมีที่เร่งการเจริญเติบโต แต่ด้วยบุคลิกของจังหวัดพะเยา คือ เมืองแห่งเกษตรปลอดภัย ตรงนี้จะต้องพัฒนาให้พืชผักสวนครัวเป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษ และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวอย่างแน่นอน |