ตำรวจยื่นคดี 9 ทหารไทย คดียิงเรือสัญชาติจีนกลางน้ำโขง ที่มีคนตายรวม 13 ศพต่อ อสส.แล้ว ล่าสุดอัยการฯ สั่งอัยการภาค 5-อธิบดีกองการ ตปท.-อธิบดี สนง.สตช.ดูแลใกล้ชิด ด้านเลขาฯ สมช.เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมตั้ง ศปปข.ที่เชียงแสน ร่วมพม่า ลาว จีน รปภ.เรือกลางแม่น้ำโขง เผย สป.จีน นัดปล่อยเรือวิ่งรอบใหม่กลางเดือนนี้
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความมั่นคงชายแดนไทย-พม่า และไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย และพะเยา ที่ห้องประชุมโรงแรมริมกกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ตามข้อตกลงของคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย คือไทย จีน สปป.ลาว และพม่า ที่ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 30 ต.ค.-1 พ.ย.54 ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงตั้งแต่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ผ่านชายแดนพม่า-สปป.ลาว เรื่อยลงมาจนถึงท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระยะทางประมาณ 264 กิโลเมตร
โดยในครั้งนี้มีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภายใน ศปปข.เข้าร่วม เช่น พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผบช.ตร.ภาค 5, นายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย, พล.ต.ต.จรินทร์ อินทร์สุวรรณโน ผบก.ภว.พะเยา, พล.ต.ต.ดร ปิ่นเฉลียว ผบก.ตชด.ภาค 3, พ.อ.ถนัดพล โกศัยเสวี ผบ.ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง, กรมเจ้าท่า, หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย, ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
พล.ต.อ.วิเชียร ได้แจ้งถึงรายละเอียดและความจำเป็นในการจัดตั้ง ศปปข.ให้แต่ละหน่วยงานได้รับทราบ ทั้งเรื่องการร่วมกันลาดตระเวณ การบังคับใช้กฎหมายทั้งภายในประเทศ และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า จะมีการจัดตั้งหน่วยงานปฏิบัติงานของ ศปปข.ขึ้นที่ อ.เชียงแสน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงาน เช่น กรมเจ้าท่า นรข.เขตเชียงราย ตชด.ตำรวจภูธร และทหารผาเมือง โดยจะใช้พื้นที่อำเภอเชียงแสนเป็นศูนย์และมีศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าทำหน้าที่ติดต่อประสานงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยแต่ละหน่วยงานของศูนย์จะให้ความร่วมมือ รวมทั้งจะมีการลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อเฝ้าระวังเหตุด้วย
เลขาธิการ สมช.ระบุอีกว่า ระหว่างวันที่ 10-15 ธ.ค.54 นี้ ทางการจีนจะปล่อยเรือสินค้าจากท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ลงมายังท่าเรือ อ.เชียงแสน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สั่งหยุดเดินเรือหลังเหตุการณ์วันที่ 5 ต.ค.54 เป็นต้นมา ซึ่งทางการไทยจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล และ สมช.ไปร่วมพิธีปล่อยการเดินเรือด้วย โดยในคาราวานเรือจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำเข้าร่วมประสานงานและสังเกตุการณ์ตลอดเส้นทาง
“คาดหวังว่าหากความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะขยายผลไปยังการแก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และการหลบหนีเข้าเมืองต่อไปด้วย” พล.ต.อ.วิเชียรกล่าว
ด้าน พล.ต.ท.สุเทพกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดียิงลูกเรือจีน 2 ลำ ต่อทหารไทยรวม 9 นายนั้น ขณะนี้ทางตำรวจได้สรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุดแล้ว โดยแนวทางสอบสวนพบว่า คดีบางส่วนเกิดขึ้นนอกเขตราชอาณาจักรไทยถึง 25 กิโลเมตร ลึกเข้าไประหว่างชายแดน สปป.ลาว และพม่า ซึ่งทางอัยการสูงสุดก็มีคำสั่งให้อธิบดีอัยการภาค 5 อธิบดีกองการต่างประเทศ และอธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงมาดูคดีอย่างใกล้ชิดแล้ว
ในด้านยาเสพติดของกลางที่พบในคดีเป็นจำนวนมากนั้น ทางตำรวจอยู่ระหว่างเร่งสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลว่าเป็นของขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มใด โดยได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อตรวจสอบรูปแบบของยาเสพติดและอื่นๆ อย่างละเอียดต่อไป
สำหรับเหตุการณ์ยิงเรือจีนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 5 ต.ค.เมื่อได้มีเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง Hua Ping และเรือขนกระเทียม และแอปเปิล Yu Xing 8 ของจีนเดินทางมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำชายแดน สปป.ลาว-พม่า และถูกปล้นและฆ่ากัปตันและลูกเรือรวม 13 ศพ ก่อนที่เรือจะเข้าเทียบฝั่งไทยที่ริมฝั่งเขตหมู่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน และเจ้าหน้าที่ไทยเข้าตรวจค้นบนเรือพบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ 920,000 เม็ด และผู้เสียชีวิต 1 ศพ ปืนอาก้า 1 กระบอก ต่อมาค่อยๆ ทยอยพบศพผู้เสียชีวิตลอยมาติดริมฝั่ง ทำให้ทางรัฐบาลได้เร่งรัดให้ทางการไทยได้เร่งคลี่คลายในคดี กระทั่งต่อมาได้มีทหารจากกองกำลังผาเมืองทั้งระดับสัญญาบัตรระดับ พ.ต.และชั้นประทวนรวม 9 นาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชายแดนบริเวรดังกล่าวทะยอยเข้ามอบตัวกับคณะกรรมการสอบสวนซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจ (ตร.) ตั้งขึ้นโดยตรงและถูกดำเนินคดีฆ่าลูกเรือจีนดังกล่าว |