สาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวกางเต็นท์นอนในป่าหรือตามพุ่มไม้ ระวังโรคสครับไทฟัสหรือไข้แมงแดง |
|
ประกาศเมื่อ
26 ธันวาคม 2011 เวลา 00:37:09 เปิดอ่าน
1324 ครั้ง |
|
|
สาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยว หลังไปตั้งเต็นท์ค้างแรมในป่าเขา หากมีไข้สูงภายใน 2 สัปดาห์ อาจมีผื่นแดงและสะเก็ดแผลไหม้ให้สงสัยเป็นโรคสครับไทฟัสซึ่งมีตัวไรแดงเป็นพาหะนำโรค ควรไปพบแพทย์
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าโรคสครับไทฟัสหรือไข้แมงแดงนั้น เป็นโรคที่พบบ่อยในพื้นที่ชนบทและป่าเขา มีรายงานประมาณปีละ 3,000-4,000 ราย พบในทุกภาคของประเทศ แต่ในฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวไปเดินป่าหรือตั้งเต็นท์ค้างแรมในป่าเขา หากกลับจากท่องเที่ยวแล้วไม่สบายขอให้นึกถึงโรคนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไข้รากสาดที่เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย ตามธรรมชาติเป็นโรคติดต่อของสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลฟันแทะเช่น หนู กระแต กระจ้อน โดยเชื่อว่าเชื่อริกเกตเชียที่อยู่ในสัตว์แทะจะไปทำให้สัตว์นั้นมีอาการของโรค เชื้อนี้ติดต่อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่งได้โดยถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัด บังเอิญคนเข้าไปในแหล่งที่ไรอาศัยอยู่และถูกไรอ่อนกัด โดยเฉพาะในบริเวณร่มผ้าแล้วปล่อยเชื้อออกมา หลังถูกกัดประมาณ 10–12 วันจะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจตาแดง ต่อมน้ำเหลือง อักเสบ มีตับโตม้ามโต ผู้ที่ถูกไรอ่อนกัดร้อยละ 30-40 จะมีแผลบุ๋มสีดำ รูปร่างกลมออกรีขอบนูนเรียบขนาดประมาณ 0.5–1.5 เชนติเมตร ลักษณะคล้ายแผลถูกบุหรี่จี้แต่ไม่เจ็บ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค หลังมีไข้ประมาณ 4- 5 วันบางรายจะมีผื่นนูนแดงตามตัวกระจายไปตามแขนขา แต่จะหายไปใน 2-3 วัน บางรายอาจมีอาการทางปอด ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการทางสมอง คอแข็งและเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีอาการหลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่า ไม่ให้อาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งมียาปฏิชีวนะรักษาโรคนี้หายขาด วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวตนเองไม่ให้ไรอ่อนกัด หรือไม่เข้าไปในพื้นที่ที่สงสัยเป็นที่อยู่ของไรอ่อน เช่น กองฟางในท้องนา ในป่าโป่ง ชายป่า ป่าละเมาะ ไร่สวน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนกับพื้นดินติดบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะหรือพื้นหญ้าขึ้นรก ใช้ยาทากันแมลงกัด เมื่อจำเป็นเข้าไปพื้นที่เสี่ยงแต่งกายให้รัดกุม โดยเอาขากางเกงใส่เข้าไปในรองเท้าและใส่เสื้อในกางเกง ส่วนที่อยู่ร่มผ้าให้ทายากันแมลงกัด ใส่รองเท้าบู๊ต หลังจากออกพื้นที่เสี่ยงให้เปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำชำระร่างกายทันที เสื้อผ้าที่ใส่ให้แช่ผงซักฟอกที่มีความเข้มข้น ซักผึ่งแดดให้แห้งในกรณีที่มีผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตจากโรคนี้เพราะบางคนไปพบแพทย์ช้า ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ หรือบางคนอาจป่วยด้วยโรคนี้พร้อมกับโรคอื่นๆ แต่การรักษามุ่งแต่โรคอื่นไม่ได้รักษาโรคนี้ เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และเสียชีวิตแต่ก็พบการเสียชีวิตได้น้อยมาก |
|
|
|
|
|
|