กรมน้ำยันโขงแห้งไม่เกี่ยวเขื่อนจีน-แต่เตรียมเสนอ MRC ให้จีนเพิ่มน้ำ
ประกาศเมื่อ
24 พฤศจิกายน 2010 เวลา 09:13:04 เปิดอ่าน
1325 ครั้ง
อธิบดีกรมน้ำนำทีมดูน้ำโขงแห้ง ยันไม่เกี่ยวเขื่อนจีน ระบุระดับน้ำก่อน-หลังสร้างเขื่อนไม่แตกต่างมากนัก แต่เตรียมเสนอ MRC ขอให้จีนปล่อยน้ำเลี้ยงลำน้ำเพิ่มแล้งนี้ ชี้สิ่งที่น่าห่วงอยู่ที่ตะกอนทรายท้องน้ำเพิ่ม เล็งชงเรื่องให้ประเทศลุ่มน้ำร่วมเทงบขุดลอก
วันนี้ (23 พ.ย.)นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้นำสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ สำรวจสถานการณ์แม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย -รับฟังบรรยายสรุปที่สำนักงานอุทกวิทยา อ.เชียงแสน ตั้งแต่ลักษณะทางอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ไหลผ่านพม่า สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ระยะทางประมาณ 4,800 กิโลเมตร และได้รายงานการวัดระดับน้ำจากสถานีแม่น้ำโขงเชียงแสน ตั้งแต่เริ่มมีการวัดระดับเมื่อปี 2505-2553
ทั้งนี้ พบว่าระดับความลึกเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2505-2552 อยู่ที่ 2.96 เมตร ปี 2551 อยู่ที่ 4.11 เมตร ปี 2552 อยู่ที่ 2.45 เมตร และปี 2553 อยู่ที่ 3.04 เมตร อย่างไรก็ตาม ค่าของกราฟระดับน้ำที่แสดง จะมีระดับลดลงในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปีเป็นต้นไป และจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งช่วงก่อนฤดูฝนของปีถัดไป
นอกจากนี้ยังมีการแจ้งถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงว่า ส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำสาขา ที่ไหลจากประเทศต่างๆ และปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก มากกว่าปริมาณน้ำจากหิมะละลายในแม่น้ำโขง ตอนที่ไหลผ่านประเทศจีนซึ่งเรียกว่าแม่น้ำ “หลานชาง” เสียอีก
อย่างไรก็ตาม ในการสรุปรายงานไม่ได้มีการระบุถึงกรณีเขื่อนในประเทศจีนว่า เป็นสาเหตุของระดับน้ำโขงลดแห้งมากนัก
จากนั้น นายจตุพรได้นำคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่เดินทางไปสำรวจเกาะแก่ง หาดทรายในแม่น้ำโขงที่แก่งผาได ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นสุดเขตดินแดนไทยก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ สปป.ลาว
นายจตุพรกล่าวว่า น้ำโขงในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.เป็นต้นไปจะค่อยๆ ลดระดับลงไปเรื่อยๆ เป็นปกติตามธรรมชาติดั้งเดิม จากนั้นจะไปเพิ่มสูงขึ้นหรือลึกลงตั้งแต่เดือน เม.ย.ของทุกปีเป็นต้นไป เพราะช่วงนั้นหิมะในประเทศจีนจะเริ่มละลายและเริ่มมีฝนตก จึงทำให้แม่น้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากขึ้น
นายจตุพรย้ำว่า จากการดูข้อมูลทั้งก่อนและหลังการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนก็พบว่าตัวเลขต่างๆ ทั้งระดับน้ำและปริมาณน้ำ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
แต่เบื้องต้นอาจจะมีการนำเสนอในคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission : MRC) เพื่อขอให้ประเทศจีน ปล่อยน้ำเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในช่วงฤดูแล้งด้วยเช่นกัน
นายจตุพรบอกอีกว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าในปัจจุบัน คือ ตะกอนทราย ที่อยู่ในแม่น้ำมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการหารือกันระหว่างประเทศ เพื่อการขุดลอกในอนาคต
ด้านนายประธาน อินทรียงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามเซ้าส์ไชน่า จำกัด ซึ่งประกอบกิจการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง กล่าวว่า การขนส่งสินค้าไทย-จีนตอนใต้ ช่วงนี้ยังไม่พบปัญหามากนัก เรือยังสามารถแล่นไปมาได้ แต่ระดับน้ำคงจะลดลงไปเรื่อยๆ และเราคงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานอุทกวิทยาได้ตรวจวัดก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ และควรที่รัฐบาลไทยจะนำไปพิจารณาดำเนินการ คือ ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลมาจากประเทศจีนมีประมาณ 75,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 16% ของปริมาณน้ำทั้งหมด เขื่อนในประเทศจีนได้ทำการกักน้ำเหล่านั้นเอาไว้แล้ว 3,086 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นเพียง 4.06% และหากในอนาคตเขื่อนที่กำลังก่อสร้างหรืออยู่ในแผนก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะทำให้น้ำถูกกักเพิ่มเติมอีก 17,310 ล้าน ลบ.ม. หรือรวมน้ำที่จะถูกกักทั้งสิ้นประมาณ 20,396 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22.78% ของปริมาณน้ำทั้งหมด
นายประธานกล่าวว่า น่าสังเกตว่า สปป.ลาว เองก็มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากเป็นอันดับ 2 คือประมาณ 166,250 ล้าน ลบ.ม. หรือกว่า 35% ของปริมาณน้ำทั้งหมด แต่ลาว มีแผนจะกักเก็บน้ำเอาไว้ได้มากถึง 2,006 ล้าน ลบ.ม.หรือ 2.35% ขณะที่ประเทศไทยกลับไม่มีโครงการกักเก็บ น้ำสาขาสายต่างๆ ก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงจนหมด ขณะที่บางปีเกิดน้ำท่วมเสียอีก
ดังนั้น ตนจึงอยากให้ประเทศไทยได้คิดแผนบริหารจัดการมากกว่าความกังวลเรื่องระดับน้ำโขง เพราะจากการดูระดับน้ำที่ อ.เชียงแสน ตั้งแต่ปี 2504-2552 พบว่าก่อนมีเขื่อนในประเทศจีนฤดูแล้งระดับน้ำลดลงต่ำสุดเฉลี่ย 2.3 เมตร และหลังมีเขื่อนในจีนระดับน้ำอยู่ที่ 2.2 เมตร หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ขณะที่ปี 2552 ฤดูแล้งค่าระดับน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 เมตร และปี 2553 ในเดือน มี.ค.ระดับน้ำอยู่ที่ 1.6 เมตร