สาธารณสุข เผยไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยวันละ 30 ราย หากพบคนในครอบครัวปวดเค้นกลางหน้าอกนานหลายนาที ร้าวไปถึงแขน ไหล่ซ้าย ข้อศอก ขากรรไกรหรือไปที่ด้านหลัง ให้สงสัยหัวใจขาดเลือด หรือมีอาการใบหน้า แขน ขาอ่อนแรง ชา เห็นภาพไม่ชัดเจนให้สงสัยเป็นหลอดเลือดสมอง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที การป้องกันไม่ให้ป่วย แนะลดอาหารหวาน มัน เค็มและเกลือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 5 วันๆละ 30 นาที ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และงดสูบบุหรี่ ลดดื่มสุรา
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้โรคหัวใจและหลอดเลือด นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทั่วโลกจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี 2005 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 17.5 ล้านคนทั่วโลกและคาดว่าในปี 2015 จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนทั่วโลก สำหรับไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยวันละ 30 คน เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นนั่นเอง ปัจจัยเสี่ยงต่อการ เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อายุ กรรมพันธุ์ เพศ เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันผิดปกติ การสูบ บุหรี่ ความอ้วน การบริโภคไม่เหมาะสม และโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด มีความหมายครอบคลุมถึง 3 กลุ่มโรคที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. โรคหลอด เลือดหัวใจ เป็นโรคของหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 2. โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ทำให้เกิดการขาดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมอง และ3. โรคหลอดเลือดส่วนปลาย เป็นโรคของหลอดเลือดไปหล่อเลี้ยงแขน ขา ลดลง
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด จะมีอาการหัวใจขาดเลือด คือ ปวดเค้นกลางหน้าอก เจ็บนานหลายนาที อาจร้าวไปถึงแขน ไหล่ซ้าย ข้อศอก ขากรรไกร หรือไปที่ด้านหลังก็ได้ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน เป็นลม หมดสติ เหงื่ออกมาก ซีด ส่วนอาการหลอดเลือดสมองที่พบบ่อยคือ มีการอ่อนแรงบริเวณใบหน้า แขน ขา ส่วนมากเป็นข้างเดียว และอาจมีอาการอื่นที่ร่วมด้วย ได้แก่ ชาบริเวณใบหน้า แขน ขา มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน การคิดสับสน พูดลำบากหรือฟังคนอื่นเข้าใจยาก ปวดศีรษะรุนแรง เดินลำบาก งุนงง ทรงตัวไม่ได้เหมือนคนปกติ เป็นลมหมดสติ
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า ความรุนแรงและอาการโรคเกี่ยวข้องกับบริเวณที่สมองขาดเลือด และความกว้างของส่วนที่ขาดเลือดอาจทำให้มีอาการชา อัมพฤกษ์ หรืออัมพาต ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากพบเห็นผู้ที่มีอาการดังกล่าว ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยด่วน ซึ่งการรักษามี 4 วิธี คือ การใช้ยา การใช้เครื่องมือโดยการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือสอดเครื่องมือรักษาหัวใจ โดยสอดผ่านทางผิวหนัง เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน การผ่าตัดหลอดเลือด เพื่อนำหลอดเลือดจากบริเวณอื่นไปทำหน้าที่แทนหลอดเลือดหัวใจช่วงที่อุดตัน หรือเรียกว่า การทำบายพาส และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่มีผลต่อการเกิดโรคนี้ด้านอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ และการเลิกบุหรี่
ทั้งนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ โดยการปฏิบัติตัวดังนี้ ลดการบริโภคอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม และลดการบริโภคเกลือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 5 วันๆละ 30 นาที ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เช่น ฟังธรรมมะ ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ และงดสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา |