ผู้ว่าฯ 3 กลุ่มเอกชนเชียงรายตั้งวงถกรับ AEC เชื่อทำ ชร.เปลี่ยนเร็ว-แรง |
|
ประกาศเมื่อ
22 มกราคม 2012 เวลา 23:39:50 เปิดอ่าน
1322 ครั้ง |
|
|
รัฐ-เอกชนเมืองพ่อขุนฯ ตั้งโต๊ะเสวนา “ก้าวย่างใหม่ของเชียงรายสู่สากล” ระดมพลังเตรียมพร้อมรับเออีซี-เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ผู้ว่าฯส่งสัญญาณเอกชนต้องเร่งปรับตัว พัฒนาบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมวางยุทธศาสตร์ชร. ตามรอยสมเด็จย่า-รับประชาคมอาเซียน เผย จีนยังเดินหน้าลงทุนอีกร่วม 8 หมื่นล้านหยวน
รายงานข่าวแจ้งว่า สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ร่วมกับหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวย่างใหม่ของเชียงรายสู่สากล” ขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.55 ที่ห้องดอยตอง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีผู้ประกอบการและตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมครบครัน
ด้าน นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย คนใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์และร่วมเสวนาว่า เชียงรายมีความเป็นมายาวนานร่วม 750 ปี แต่ละยุคสมัยผ่านพัฒนาการมา จนพบว่าแต่ละเมืองมีความเป็นเอกลักษณ์ สำหรับเชียงรายนั้นตนกำลังมีแผนให้ข้าราชการได้มีจิตสำนึกความเป็นคนเหนือหรือคนเมือง ด้วยการให้พูดภาษาเหนือ สวมใส่เสื้อผ้า และรับประทานอาหารเหนือ ฯลฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
ขณะเดียวกัน ก็จะส่งเสริมให้มีการใช้ต้นทุนที่มีอยู่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัตน์ และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 เป็นต้นไป รวมทั้งความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น จีน กลุ่มBEMSTEC ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ตนขอเรียกว่า “รวดเร็วและรุนแรง” โดยที่ไม่สามารถหนีพ้นได้ นอกจากต้องปรับตัวให้ได้
การปรับตัวดังกล่าว คือ การติดตามสถานการณ์ และเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเองโดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินระเบียงเหนือ-ใต้ ของภูมิภาค ผ่านประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบว่าจีนให้ความสำคัญกับชายแดนพม่า-จีน ด้านเมืองมูเช-รุ่ยลี่ หรือ ยุ่ยลี่ ซึ่งเป็นชุมชน 5 แห่ง ที่ถือเป็นแหล่งกระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีรถบรรทุกเข้าออกอย่างน้อยวันละกว่า 500 คัน มีการพัฒนารางรถไฟรางคู่จากจีนตอนใต้ผ่านพม่าไปสู่ชิตเว หรืออ่าวเบงกอล เพื่อเชื่อมจีนกับมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น
ขณะที่เชียงรายมีต้นทุนสูงหลายเรื่อง โดยเรื่องแรกคือ การที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ได้ทรงพัฒนาเชียงรายและก่อให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์มากมายทั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ ซึ่งจังหวัดกำลังจะเดินตามรอย โดยเฉพาะการปลูกป่าสร้างคนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและยาเสพติดให้ครบทั้ง 18 อำเภอ หลังจากที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ประสบความสำเร็จและทำให้ประชากร 27,000 คนได้ประโยชน์
ต้นทุนอีกอัน คือ การที่มีกลุ่มทุนใหญ่ๆ เข้าไปลงทุนที่ จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง เช่น ไร่บุญรอด สนามกอล์ฟ ฯลฯ ทำให้เกิดการจ้างงาน และต้นทุนเรื่องสถานศึกษา ที่มีมากมายหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดไม่รวมต้นทุนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ที่อยู่คู่เชียงรายอยู่แล้ว
“สิ่งที่เชียงรายต้องทำคือ นำต้นทุนดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เราต้องปรับตัว โดยปรับเรื่องภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และจีน ไม่เช่นนั้นเสียเปรียบประเทศอื่นๆ หลังเข้าเออีซี และปรับธุรกิจ เช่น ลูกจ้างต้องพูดได้หลายภาษา เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เอกชนทำได้เลยโดยไม่ต้องรอภาคราชการ และสุดท้ายคือปรับด้านการศึกษา” นายธานินทร์ กล่าว
ผู้ว่าฯเชียงราย ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.55 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 3 อำเภอคือแม่สาย เชียงแสน และ เชียงของ โดยอยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนเสนอขึ้นไปอยู่
ด้าน นายอภิชา ตระสินธุ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า สถิติการท่องเที่ยวของเชียงรายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามา 1,436,435 คน สร้างรายได้เข้าจังหวัดประมาณ 9,818.95 ล้านบาท ปรากฏว่า ปี 2553 แม้จะมีปัญหาทางการเมืองในประเทศกลับมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นถึง 2,288,218 คน สร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 15,024.64 ล้านบาท
แต่ปัญหาคือ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ธ.ค.นักท่องเที่ยวจะมีไม่มาก รวม 8 เดือน ดังนั้น จึงจะร่วมกับจังหวัดเพื่อลดช่วงโลว์ซีซันลงให้ได้ จึงมีข้อเสนอในการเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มรูปแบบและกิจกรรมหรือเทศกาลมากขึ้น ส่งเสริมตลาดและการขยาย ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวอาร์สามเอ รวมทั้งบูรณาการภาครัฐและเอกชน
นายชวลิต สุธรรมวงศ์ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทำให้การพัฒนาไม่สามารถยึดกับภาพเก่าๆ ได้อีกต่อไป จึงต้องปรับตัวโดยหอการค้าพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย ในส่วนของการท่องเที่ยวก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็ม 100% และทุกฝ่ายก็ควรบูรณาการโดยไม่ยึดติดเฉพาะหน้าที่ของตัวเอง เพราะปัจจุบันประเทศจีนพร้อมลงทุนอีก 8 หมื่นล้านหยวน เพื่อพัฒนาการลงทุนของจีนตอนใต้ ดังนั้น ภาพที่เราเห็นในปัจจุบันจึงจะเปลี่ยนแปลงไปกว่านี้อีกมาก
นายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า เชียงรายเป็นเมืองที่มีภาระเรื่องต้นทุนด้านการผลิตสูง เพราะอยู่ไกลจึงทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆ สูงโดยคำนวณแล้วน้ำมันดีเซลราคาสูงกว่ายะลา ที่อยู่ใต้สุดลิตรละประมาณ 25 สตางค์ จึงอยากให้ทางจังหวัดและรัฐบาลสนับสนุนโครงการรถไฟเพื่อลดต้นทุน เพราะอดีตที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนแต่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ |
|
|
|
|
|
|