รมว.คมนาคมตรวจท่าเรือเชียงแสนใหม่ เล็งเพิ่มเรือสินค้าไทยในแม่น้ำโขงรับเออีซี |
|
ประกาศเมื่อ
09 เมษายน 2012 เวลา 00:44:34 เปิดอ่าน
1325 ครั้ง |
|
|
รมว.คมนาคมตรวจท่าเรือเชียงแสนหลังเริ่มดำเนินการแล้ว พอใจท่าเรือมีความพร้อม แต่ติงต้องหาที่ให้เอกชนเพิ่ม ส่วนสถานการณ์เดินเรือลำน้ำโขงช่วงหน้าแล้ง พบเรือลาวให้บริการคึกคักหลังเรือจีนหาย เตรียมหารือเอกชนเพิ่มเรือไทยรับเออีซี
วันนี้ (8 เม.ย.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปตรวจการดำเนินการของท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ปากแม่น้ำกก บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หลังจากท่าเรือดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย สปป.ลาว พม่า และจีนตอนใต้ ตามข้อตกลงเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน
ทั้งนี้ผลการตรวจสอบพบว่า มีเรือพาณิชย์เข้าใช้บริการไม่มากนัก ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูแล้ง โดยเรือส่วนใหญ่ให้บริการเป็นเรือสินค้าของ สปป.ลาว ขนาด 100-150 ตัน ที่แล่นให้บริการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงมากขึ้น เพื่อทดแทนเรือสินค้าจากจีนที่มีขนาดกว่า 200-300 ตัน ซึ่งไม่เหมาะกับฤดูแล้งที่น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดลง รวมทั้งยังคงอยู่ในความหวาดกลัวจากเหตุการณ์ยิงลูกเรือจีน 13 ศพ เมื่อเดือน ต.ค. 2554 บริเวณสามเหลี่ยมทองคำชายแดนพม่า-สปป.ลาว ด้วย
นายจารุพงศ์กล่าวว่า ท่าเรือแห่งใหม่นี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่แล้ว โดยความสามารถรองรับสินค้านำเข้า และส่งออกได้ปีละกว่า 6 แสนตัน ส่วนปัญหาที่พบตอนนี้คือ ความไม่สะดวกของผู้ประกอบการ เนื่องจากยังไม่ได้มีการย้ายสำนักงานดำเนินการ จากเดิมที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือแห่งเก่า ในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน มายังท่าเรือแห่งใหม่ ขณะเดียวกัน ภายในท่าเรือแห่งใหม่เองก็ยังไม่มีพื้นที่ให้ภาคเอกชนตั้งสำนักงาน เพราะออกแบบให้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐเข้ามาตั้งสำนักงานเท่านั้น
“ทางท่าเรือคงจะต้องเร่งจัดสรรพื้นที่สำหรับตั้งสำนักงาน หรือโกดัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป ส่วนเรื่องน้ำโขงแห้งถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีเป็นประจำทุกปี และยังไม่เป็นปัญหาต่อการเดินเรือสินค้าแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่น่าห่วงก็คือ ขณะนี้ ไม่มีเรือไทยวิ่งขนส่งสินค้ามากกว่า ต่อจากนี้คงต้องพูดคุยกันเรื่องให้ผู้ประกอบการไทยจัดหา หรือซื้อเรือบรรทุกสินค้าของคนไทยเอง เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ซึ่งคาดว่าการค้าการนำเข้าส่งออกจะมีมูลค่าสูงขึ้น” นายจารุพงษ์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 387 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา ติดชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างเอกชนให้ทำการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2552 ถึงวันที่ 28 ธ.ค.2554 และเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากท่าเรือแห่งแรกตั้งอยู่กลางเมืองโบราณ และชุมชน อีกทั้งมีความคับแคบ และมีศักยภาพรองรับสินค้าได้เพียงปีละประมาณ 3 แสนตันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขงในปัจจุบัน พบว่า มีเรือสินค้าไทยน้อยมาก โดยปัจจุบัน มีมีเรือสัญชาติจีนที่ทำการขนส่งในแม่น้ำโขงประมาณ 90 ลำ แต่ได้ลดปริมาณลงหลังเกิดเหตุการณ์ยิงลูกเรือจนเสียชีวิต 13 ศพ เมื่อเดือน ต.ค. 2554 ทำให้เรือสินค้าลาวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 140 ลำแล้ว จากเดิมที่มีเพียงเรือลำเล็กๆ ประมาณ 70 ลำ โดยมีเรือของลาวจากแหล่งอื่นๆ เช่น หลวงพระบาง เข้ามาให้บริการเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่เรือของพม่าพบว่ามีทั้งสิ้น 25 ลำ ส่วนเรือไทยมีเพียง 3 ลำเท่านั้น โดยผู้ประกอบการระบุว่า สาเหตุที่ไม่มีเรือสินค้าไทยนั้น เป็นเพราะเอกชนไทยเลือกที่จะเข้าไปถือหุ้นกับเอกชนจีน หรือประเทศอื่นๆ มากกว่า ประกอบกับการเดินเรือแม่น้ำโขงยังมีความเสี่ยง เพราะไม่มีมาตรฐานเรื่องการประกันภัย อีกทั้งยังไม่มีการจ่ายเงินค่าขายสินค้าผ่านธนาคาร ทำให้ต้องใช้เงินสด หรือแลกสินค้ากัน นอกจากนี้ การเดินเรือแม่น้ำโขงต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะซึ่งทางจีนมีมากกว่า และยังมีเหตุผลในเรื่องอิทธิพลแถบลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
สำหรับการค้าชายแดนผ่านท่าเรือเชียงแสนถือว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2554 มีการส่งออก 8,992.65 ล้านบาท นำเข้า 1,100.12 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2554-ก.พ.2555 มีการส่งออกแล้ว 4,480.40 ล้านบาท นำเข้า 180.08 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับจีน โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นส่วนน้ำมันดีเซล ไก่แช่แข็ง น้ำมันปาล์ม ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เมล็ดทานตะวัน กระเทียม ดอกไม้เพลิง เห็ดหอม เป็นต้น
|
|
|
|
|
|
|