นางสุรนิตย์ อ่องฬะ ปลัดเทศบาลนครเชียงราย เปิดเผยว่า “หลังจากที่เทศบาลนครเชียงราย และสถาบันสิ่งแวดล้อม (TEI) ได้ร่วมดำเนินโครงการเครือข่ายเมืองในภูมิภาคเอเชีย เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCCRN) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) และได้ร่วมกับชุมชนพร้อมด้วยคณะครูนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นหน้า จัดกิจกรรมการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นำร่องของโครงการครอบคลุมพื้นที่ชุมชน 5 ชุมชนตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ และถือว่าเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างเทศบาลฯ ชุมชน และเยาวชนในสังกัดโรงเรียนเทศบาลฯ ตลอดจนนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อรวมรวมข้อมูลจากการสำรวจนำมาประกอบเป็นแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่และระบบนิเวศในอนาคต”
สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินโครงการคือการนำความต้องการของชุมชนมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน สถาบันสิ่งแวดล้อม หรือ (TEI) จึงได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นชุมชน ตามโครงการประเมินความต้องการของชุมชนในการฟื้นฟูระบบนิเวศและส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชนพื้นที่แม่น้ำกกสายใน ก่อนและหลังดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ซึ่งเป็นการค้นหาปัญหาและความต้องการที่แท้จริงในการพัฒนาแม่น้ำกกน้อยสายใน จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนเทิดพระเกียรติ ชุมชนเกาะลอย ชุมชนกองยาว ชุมชนรั้วเหล็ก และชุมชนรั้วเหล็กใต้ มีตัวแทนชุมชนร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ ประธานชุมชน ตัวแทนกลุ่มสตรี ตัวแทนกลุ่มเยาวชน ตัวแทนผู้สูงอายุหรือปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำกกสายใน และตัวแทนกลุ่มอาชีพ ชุมชนละ 10 ท่าน รวมกว่า 50 คน โดยมีวิทยากรกระบวนการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อ.ไพรัช โรงสะอาด ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการแก่สังคม พร้อมทีมผู้ช่วยวิทยากรกระบวนการจัดกลุ่มระดมความคิดเห็นในการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการติดตามโครงการ (การรับรู้โครงการฯ กิจกรรมที่โครงการได้ดำเนินกิจกรรม ความรู้สึกต่อโครงการ) ประเด็นการค้นหาอดีต มองปัจจุบัน สร้างความเปลี่ยนแปลงน้ำกกน้อยในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยให้ผู้เข้าร่วมเวทีทบทวนลำน้ำกกน้อยอดีตที่ผ่านชุมชนมีสภาพเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตอยากจะให้เป็นอย่างไรเช่น ริมฝั่งน้ำกกน้อย บ้านที่ตั้งริมน้ำกกน้อย กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในลำน้ำกกน้อย และประเด็นความต้องการความเป็น ไปได้ของกิจกรรมที่ทางผู้เข้าร่วมได้นำเสนอ ความจำเป็นเร่งด่วน ประเด็นคนในชุมชนได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และสภาพปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
นางสุรนิตย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โดยสรุปแล้วชุมชนมีความต้องการที่ตรงกันในการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฯ ทั้งในส่วนของกระบวนการรับรู้ข้อมูล การดำเนินโครงการฯ ที่ต้องการให้มีการพัฒนาพื้นที่นำร่องอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ การฟื้นฟูระบบน้ำลำคลองให้มีสายน้ำไหลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และที่สำคัญต้องเป็นการให้โอกาสชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูลำน้ำกกน้อยสายใน ทั้งในแง่วัฒนธรรมทางความคิดและวิถีการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงเชื่อว่าในอนาคตพี่น้องในเขตเทศบาลจะมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ซึ่งเป็นการฟื้นฟูลำน้ำกกน้อยให้มีความสมบูรณ์เสมือนได้ฟื้นคืนชีวิตให้กับสายน้ำในอดีตให้กลับมายั่งยืนอีกครั้งอย่างแน่นอน” |