เตรียมจัดใหญ่งาน สับปะรด-ลิ้นจี่ เชียงราย ระบายผลผลิต |
|
ประกาศเมื่อ
11 พฤษภาคม 2012 เวลา 12:46:28 เปิดอ่าน
1323 ครั้ง |
|
|
เมืองพ่อขุนฯ เตรียมเปิดพื้นที่จัดใหญ่งานสับปะรด-ลิ้นจี่ตั้งแต่ 18-20 พฤษภาคมนี้เพิ่มช่องทางระบายผลผลิต ขณะที่แกนนำชาวสวนฯ ครวญถูกกดราคาหนัก เคยขอรัฐช่วยหนุนแปรรูปทำราคาเพิ่มกลับไม่ได้รับการเหลียวแล
นางอัมพวัน ศรีวรรณยศ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย กล่าวว่า พืชเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย คือสับปะรดนางแล สับปะรดภูแล และลิ้นจี่ ซึ่งปลูกกันมากในพื้นที่ ต.นางแล ต.ท่าสุด และ ต.บ้านดู่ อ.เมือง ถือเป็นพืชที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกได้อย่างดียิ่ง
ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตของพืชต่างๆ ดังกล่าวออกสู่ตลาดประมาณ 15,000-18,000 ตัน สามารถทำรายได้แก่ชาวสวนผู้ปลูกสับปะรดกว่า 150 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะลิ้นจี่เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศเอื้ออำนวย
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และให้ประชาชนรู้จักสับปะรดนางแลโดยเฉพาะพันธุ์ภูแล และลิ้นจี่ อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งสร้างตลาดระบายสินค้าให้ จ.เชียงรายเป็นศูนย์กลางตลาดภายในประเทศ
อบจ.เชียงราย จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนสับปะรดนางแล ภูแล และลิ้นจี่ จัดงานดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 55 นี้ ณ บริเวณโรงสีเก่าศรีเกิด ถนนบรรพปราการ อ.เมือง จ.เชียงราย กำหนดพิธีเปิดงานวันที่ 18 พฤษภาคม ในเวลา 17.00 น.ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ประกวดผลผลิตทางการเกษตร จำหน่ายสับปะรดนางแล ภูแล ลิ้นจี่ การจำหน่ายพืชผักพืชไร่ ผักปลอดสารพิษ ฯลฯ
ด้านนายเฉลิมพล กันติ๊บ ประธานชมรมชาวสวนลิ้นจี่นางแลในตำบลนางแล กล่าวว่า ปีนี้ถือว่ามีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดในปริมาณที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พ่อค้าที่เข้าไปรับซื้อที่สวนพยายามเลือกเฟ้นเอาเกรดเอ และกดราคาลงจนทำให้ราคาขายปลีก-ส่งในท้องตลาดตกต่ำตามมา โดยลิ้นจี่พันธุ์ฮวงฮวยมีราคาขายส่งกิโลกรัมละ 15 บาทลงมา ส่วนราคาขายปลีกอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 15-20 บาทซึ่งถือว่าต่ำมาก ไม่คุ้มกับต้นทุนค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่าดูแลรักษาอื่นๆ ฯลฯ เพราะตามปกติราคาที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้คือขายปลีกกิโลกรัมละตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ชาวสวนไม่มีทางเลือกเพราะลิ้นจี่มีฤดูเก็บเกี่ยวแค่ 1 เดือนจึงจำเป็นต้องขายไม่เช่นนั้นจะเน่าเสีย
“ที่ผ่านมาชาวสวนเคยร้องขอไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยเหลือด้วยการจัดทำกลุ่มแปรรูปผลผลิตลิ้นจี่ให้เป็นลิ้นจี่อบแห้ง เพราะสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้นานนับปี ต่างจากลิ้นจี่สดที่ให้ผลเพียง 1 เดือนคือต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากไม่ขายก็เน่าเสียหมด รวมทั้งการอบแห้งยังทำให้ได้ราคาดี โดยลิ้นจี่สด 10 กิโลกรัมสามารถนำไปอบแห้งเหลือ 1 กิโลกรัมแต่สามารถทำให้ได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 300 บาท หากเปรียบเทียบกับราคาลิ้นจี่สดถือว่ามากกว่าเท่าตัว แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือด้านการแปรรูปเลย”
นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตรกรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่รวมกันประมาณ 32,000 ไร่ ซึ่งปีนี้พบว่าให้ผลผลิตมากกว่าปีก่อนสูงถึง 30% ทำให้ราคาลดลง ทำให้ทางจังหวัดและสำนักงานเกษตรจังหวัดวางมาตรการรองรับ 3 มาตรการ คือ กระจายผลผลิตสู่ตลาดโดยให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ฯลฯ นำไปจำหน่าย มาตรการประชาสัมพันธ์โดยร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา นำไปจำหน่ายวันที่ 18-20 พฤษภาคม 55 และจัดกิจกรรมงานจำหน่ายภายในจังหวัดแล้ว |
|
|
|
|
|
|