รัฐบาลญี่ปุ่นมอบทุนการศึกษาประจำปีการศึกษา 2556 แก่นักเรียน นักศึกษาไทย ที่สนใจไปศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นในระดับอุดมศึกษา โดยเปิดรับสมัครและสอบคัดเลือกทุนการศึกษา 2 ประเภท ทั้งสายวิทย์และศิลป์ ได้แก่ ทุนนักศึกษาปริญญาตรี สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 หรือ จบม.ปลาย และทุนนักศึกษาวิจัย สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หรือจบปริญญาตรี/โท ทั้งนี้สามารถยื่นใบสมัครได้ด้วยตัวเองที่ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นฯ ตั้งแต่วันที่ 11-19 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13:30-16:30 น. หรือส่งทางไปรษณีย์ เอกสารจะต้องถึงภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2555
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอรับรายละเอียดพร้อมใบสมัครได้ที่ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ โทร.053-203367 หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์ตามนี้ http://www.th.emb-japan.go.jp/th/jis/study.htm
บทสัมภาษณ์จากรุ่นพี่ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
โดยนางสาวสหัษยา เจริญทรัพย์ เจ้าหน้าที่แนะแนวการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น
-----------------------------------------------------------------------------------------------
** อาจารย์พนิดา อนันตนาคม ปัจจุบันอาจารย์สอนวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อดีตนักเรียนทุนนักศึกษาวิจัยและปริญญาโท/เอก
สาขามานุษยวิทยา คณะHuman and Socio-Environmental Studies มหาวิทยาลัยคานาซาวะ
“การที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน สะท้อนให้รู้จักตัวเราเป็นอย่างดี”
ด้วยแรงบันดาลใจจากทางบ้านอยากให้เรียนภาษาต่างประเทศ อีกทั้งสนใจในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และโอกาสในการหางานทำในอนาคต จึงตัดสินใจเรียนทางด้านภาษาญี่ปุ่น และได้ทุนเรียนต่อที่ญี่ปุ่น การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นค่อนข้างเรียบง่าย คานาซาวะ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ฉันรู้สึกชอบที่นี้มาก เป็นเมืองที่น่าอยู่ บรรยากาศดีล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่วุ่นวายเหมือนอยู่ในเมืองใหญ่ อีกทั้งอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะอาหารทะเลอร่อยมาก นอกจากนี้การที่เราได้เรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เป็นประเทศในแถบเอเชียด้วยกันนั้น สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมเราเป็นอย่างไร ทำให้เรามีความคิดที่เปลี่ยนไปและรู้จักตัวเราเองมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนที่ญี่ปุ่น เนื่องจากระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นต่างจากไทย นักศึกษาจะต้องเรียนรู้เอง ขยันอ่านหนังสือให้มาก และการทำวิจัยที่ต้องนำเสนอผลงานวิจัยบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำให้ฉันมีประสบการณ์ในการเรียนหนังสือที่ดีสำหรับสายงานทางด้านวิชาการ
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกพันใดๆ กลับมาแล้วสามารถเลือกอาชีพเองได้ ฉันรู้สึกประทับใจทุนนี้มากค่ะ
** ดร. กฤษณะ จิตมณี ปัจจุบันอาจารย์สอนวิชาเคมีวิเคราะห์ ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นระดับปริญญาเอก/ระดับหลังปริญญาเอก (Post-Doctoral)
สาขาเคมีวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยโอคายามะ
“ความคล้ายคลึงของสังคมญี่ปุ่นและสังคมไทย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
ดร. กฤษณะย้อนอดีตให้ฟังว่าได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยผ่านการแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาขณะกำลังศึกษาอยู่ที่ญี่ปุ่น
และโชคดีที่ได้เรียนต่อในระดับปริญญาเอกโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเคมีวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสาขานี้ ด้วยการเอาใจใส่และการชี้แนะของอาจารย์ที่ปรึกษาประกอบกับความพร้อมของห้องปฏิการ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ส่งผลให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงสนุกกับการเรียนที่นั่น แม้บางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยเพราะต้องนำเสนอผลงานที่ทำผ่านมาแต่ละวัน ตอน 8 โมงเช้าของทุกวัน แต่ก็มีรุ่นพี่นักวิจัยที่เพิ่งจบปริญญาเอกทั้งชาวไทย ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติคอยให้คำแนะนำและเป็นกำลังใจ นอกจากนี้ ดร. กฤษณะได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานทางวิชาการตามสถานที่ต่างๆในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศแนวหน้าทางด้านวิชาการที่น่าสนใจต่อการไปทำวิจัยและศึกษาต่อ จากการที่ได้พบปะบุคคลมากมายทั้งนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเคมี ดร. กฤษณะจึงสามารถพัฒนาผลงานทางด้านวิชาการและการทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่หลากหลาย และยังกล่าวอีกว่าการเรียนในต่างประเทศเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้รู้จักอดทน พึ่งพาตนเอง และปรับตัวในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่นระยะแรก ดร. กฤษณะติดขัดเรื่องภาษาญี่ปุ่นที่ต้องใช้สื่อสารกับคนญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากที่มหาวิทยาลัยมีนักเรียนไทยไปเรียนกันมากจึงได้ฝึกพูดและเรียนภาษาญี่ปุ่นจากรุ่นน้องคนไทยด้วยกัน ดร. กฤษณะได้พูดถึงความประทับใจต่อคนญี่ปุ่นและเมืองโอคายะมะ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่ค่าครองชีพไม่สูง การเดินทางสะดวกสบาย อาหารรสชาติถูกปากและมีให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะคนที่ชอบรับประทานผัก ทั้งสดอร่อยและคุณภาพดี อีกทั้งคนญี่ปุ่นที่ได้พบล้วนใจดี มีน้ำใจ และเป็นมิตรง่ายรวมถึงพนักงานตามห้างร้านต่างๆที่บริการลูกค้าอย่างดีเยี่ยม
สมกับคำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” อาจารย์ยังได้เรียนรู้ว่า วัฒนธรรมการอยู่รวมกันของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อเครือญาติหรือ
เพื่อนร่วมงาน ก่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสังคมไทย ทำให้อาจารย์สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้อย่างสนุกสนาน
ดร. กฤษณะทิ้งท้ายว่า “ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นดีมากเลยครับและไม่มีข้อผูกมัด ถ้ามีโอกาสผมอยากจะไปทำวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นอีก
ผมชอบประเทศญี่ปุ่นมากครับ”
|