พาณิชย์โหมเปิดเวทีปลุกคนไทยเตรียมพร้อมรับ AEC และ FTA เผยวันนี้ยังมีเพียงทุนใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่สนใจเท่าที่ควร รับคนไทยน่าห่วงเรื่องภาษามากที่สุด
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมโพธิ์วดล รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.เชียงราย นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผอ.สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “ส่งออกสดใสภายใต้ FTA : อาเซียน จีน และเปรู” และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการค้าต่างประเทศร่วมให้ข้อมูล โดยมีภาคธุรกิจ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายพิทักษ์ระบุว่า ปัจจุบันไทยยังมีการส่งออกสินค้าปีละกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 60-70% ของรายได้ประชาชาติ ตลาดใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 580 ล้านคน ขณะที่กลุ่มอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community) ตั้งแต่ปี 2558 หรืออีกเพียง 3 ปีนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก รวมทั้งอาเซียนยังจัดทำเขตการค้ากับกลุ่มประเทศอื่นๆ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วย
โดยเฉพาะกับจีนมีข้อตกลงที่มีผลไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลทำให้มีการลดภาษีเป็น 0% มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 ที่ผ่านมาสินค้าที่ส่งออกจากประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 200 รายการ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ มีการยกเว้นภาษีเป็น 0% แล้ว
นอกจากอาเซียนบวก 6 ดังกล่าวแล้ว อาเซียนยังทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศเปรูในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2554 ทำให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเป็น 0% ทันที 3,400 รายการ ซึ่งสามารถใช้เปรูเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอื่นๆ ในทวีปดังกล่าวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากข้อตกลงต่างๆ จะได้รับมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ และขั้นตอนการใช้สิทธิทางการค้า ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลแก่ภาคเอกชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้ให้การช่วยเหลือภาคเอกชนที่จะส่งออกสินค้า เพราะเมื่อเอกชนผลิตสินค้าออกมาแล้วก็อาจจะมองไม่ออกว่าสินค้าใดเหมาะสมกับประเทศในกลุ่มข้อตกลง และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรภายใต้ 3 หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์ คือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก และกรมการค้าต่างประเทศดังกล่าว
นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการส่งเสริมกลุ่มประชาชนไปแล้วหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสับปะรดนางแล ซึ่งสามารถส่งเสริมสินค้าที่ได้คุณภาพและส่งออกไปถึงประเทศญี่ปุ่น กลุ่มลิ้นจี่ จ.พะเยา เป็นต้น
ด้านนางสุภาวดี ไชยานุกุลกิตติ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญพิเศษ สำนักงานสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ข้อตกลงที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดในปัจจุบันคือ AEC เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย แต่จากข้อมูลจากหลายฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนทำให้ทราบว่าผู้ที่มีความเข้าใจยังคงเป็นบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ แต่ประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปยังต้องปรับตัวยกใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงนี้จะมีหน่วยงานองค์กรต่างๆ จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง AEC กันอย่างต่อเนื่อง
“ที่สำคัญข้อมูลจากหลายฝ่ายที่พบและน่าเป็นห่วงยังคงเป็นเรื่องภาษา”
นางสุภาวดีบอกอีกว่า หลังจากที่กฎบัตรอาเซียนมีการลงนามข้อตกลงกันไปแล้วว่าให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ปรากฏว่าคนไทยมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียน น้อยกว่าสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และ สปป.ลาว ผลการศึกษายังพบว่า นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเรียนจบแล้วอยากจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย ทำให้มีการเรียนภาษาไทยกันยกใหญ่ รวมทั้งได้ติดตามสื่อโทรทัศน์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนกลุ่มนี้ได้ 3 ภาษา คือ ภาษาถิ่นของตัวเอง ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ดังนั้นประเทศไทยเราจึงต้องปรับตัวให้มากขึ้น
นางสุภาวดีกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการค้าการลงทุนแล้วหน่วยงานต่างๆ ถือว่ามีความพร้อมในการให้บริการภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องความรู้และข้อมูลต่างๆ เช่น กรณีภาษี 0% ใน AEC ยังยกเว้นสินค้าอ่อนไหวมาก เช่น ข้าว น้ำตาล ฯลฯ แต่จะใช้การเจรจาระหว่างสองประเทศที่เป็นคู่ค้ากัน โดยไทยจะเสียเปรียบมากที่สุดเพราะเคยส่งออกสินค้าหลายอย่างไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะน้ำตาลไปอินโดนีเซีย แต่อินโดนีเซียกำหนดเป็นสินค้าอ่อนไหวมาก จึงตกลงให้นำเข้าได้ปีละ 5.5 แสนตัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสินค้าอ่อนไหวแต่ก็ถือว่าลดภาษีลงมากจนไม่เกิน 5% แล้ว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การสัมมนายังจัดให้มีการให้ความรู้เรื่อง FTA อาเซียน-จีน : โอกาสการค้าในตลาดจีน, เพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดเปรูด้วยสิทธิ FTA, อภิปรายสารพันปัญหาที่พบบ่อย และกองทุน FTA ก่อนจะมีการจัดคลินิกไขข้อข้องใจการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า |