อย.ร่วมตำรวจ ตรวจจับแหล่งลักลอบนำเข้าเครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ย่านรัชดา พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศไม่จดแจ้ง และไม่มีฉลากภาษาไทย พร้อมพบอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ไม่แจ้งรายการละเอียด และไม่มีหนังสือประกอบรับรองการนำเข้าหลายรายการ โดยเปิดขายผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อสิ่งพิมพ์ มูลค่าของกลางกว่า 3 ล้านบาท
วันนี้ (4 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ อย.ภายใต้การอำนวยการของ นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล ผบก.ปคบ.และ พ.ต.อ.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผกก.4 บก.ปคบ.ร่วมกันแถลงกรณีที่ อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ว่า มีบริษัทแห่งหนึ่ง โดย นพ.นรังสันต์ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าว ย่านรัชดา ลักลอบนำเข้าเครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอางผิดกฎหมายหลายรายการ รวมทั้งพบขายผ่านเว็บไซต์ www.sariyathailand.com และขายให้กับคลินิกและสถานเสริมความงาม โดย อย.ได้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ 0 2642 8100 และ 0 2642 8700 และประสานไปยังตำรวจ ปคบ. เพื่อสืบสวนตามหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว และพบมีการขายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจริง ดังนั้น ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 อย.ร่วมกับตำรวจ ปคบ.นำหมายค้นของศาลอาญารัชดา เข้าตรวจค้นบริษัท ศริยาแกลลอรี่ จำกัด เลขที่ 731 อาคาร พี.เอ็ม.ทาวเวอร์ ชั้นที่ 23 แขวงดินแดง กรุงเทพฯ ซึ่งผลการตรวจ พบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้แก่ พบเครื่องมือแพทย์ที่ไม่แจ้งรายการละเอียด และไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า เช่น เครื่องบำบัดด้วยแสงความเข้มสูง (IPL) ใช้เพื่อปรับลดริ้วรอยเครื่องนวดตัวด้วยสุญญากาศ เครื่องสลายไขมันด้วยระบบคลื่นวิทยุและอุลตร้าโซนิค
1.พบเครื่องสำอางลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยไม่ได้จดแจ้งรายการละเอียด และไม่ได้ขออนุญาตนำเข้า รวมทั้งไม่มีฉลากภาษาไทย ประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวรูปแบบต่างๆ ยี่ห้อ Sariya Gallery ได้แก่ เซรั่มเข้มข้น อ้างเติมเต็ม ลดริ้วรอยทุกชนิด (Beauty Concentrate Eye/Face Serum), โลชั่นซากุระ กระชับผิว (Sakura Veil-Lotion), โลชั่นกุหลาบ ลดริ้วรอย (Rose Petal Lotion), ผงมาร์คและแผ่นมาร์คหน้าทุกชนิด และครีมบำรุงผิวจำนวนมาก 3.พบผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์ วิตะมินซี โบท็อกซ์ และผลิตภัณฑ์โกรท แฟคเตอร์ ที่ใช้สำหรับกระตุ้นให้ดูอ่อนกว่าวัย ที่นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ทำการยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี และนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารห้ามใช้ต่อไป มูลค่าของกลางกว่า 3,000,000 บาท
นพ.นรังสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนของการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้ตั้งข้อหา ดังนี้ คดีเครื่องมือแพทย์ 1.จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ห้ามขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่แจ้งรายการละเอียด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีเครื่องสำอาง 1.นำเข้าเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ขายเครื่องสำอางไม่แสดงฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดียา ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.นรังสันต์ กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนผู้ประสงค์จะจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ หากเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า จะมีความผิดและระวางโทษสูงสุดถึง 5 ปี อีกทั้งขอเตือนประชาชน โปรดสังเกต และตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่นำมารักษาใบหน้า เช่น เครื่องเลเซอร์เสริมความงาม เครื่องอัลตราซาวนด์ ไอออนโต Ionto อินฟราเรด IPL เทอร์มาจ เป็นต้น ว่า ได้มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งคลินิกและสถานเสริมความงาม ควรสั่งซื้อ ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆ และซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายมาให้บริการลูกค้า นอกจากนี้ ส่วนของการเลือกซื้อเครื่องสำอางควรให้ความใส่ใจและระมัดระวัง โดยซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทย ที่มีข้อความบังคับครบถ้วน หากเป็นเครื่องสำอางลักลอบนำเข้า ไม่แสดงฉลากภาษาไทย อาจได้รับอันตราย จากการใช้ รวมทั้งไม่สามารถหาผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายมารับประกัน หากเกิดความผิดปกติหรือเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย
หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพใดผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา เพื่อ อย.จะได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและตำรวจ บก.ปคบ.ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย |