นักวิชาการ-เอกชนหนุนตั้ง “Custom Free Zone”รับสะพานโขง 4 เชื่อมไทย-ลาว-จีน |
|
ประกาศเมื่อ
07 ธันวาคม 2010 เวลา 15:38:06 เปิดอ่าน
1323 ครั้ง |
|
|
นักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน ตั้งเวทีถกแผนพัฒนาการขนส่งสินค้าผ่านสะพานข้ามโขง 4 ชงผุดเขตปลอดอากรเชิงสะพาน ดึงนักลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้า
วันนี้ (7 ธ.ค.) ดร.อภิชาต โสภาแดง หัวหน้าโครงการศึกษาแนวคิดการพัฒนาการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้าบริเวณสะพานแม่น้ำโขงตามแนวพัฒนาเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งเชื่อมถนน R3A เชียงของ-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ได้จัดระดมความเห็นจากภาครัฐและเอกชนตามโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุมโรงแรมมันตรินี บูติค รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายด่านศุลกากร หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ เข้าร่วม
ดร.อภิชาต และอาจารย์อรรฆพจน์ พึ่งไชย รวมทั้งคณะได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโครงการได้ศึกษาแล้วเสร็จแล้วและต้องการได้รับความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพิ่มเติม โดยสิ่งที่มีการนำเสนอให้พิจารณาร่วมกันคือการจัดตั้ง "Customs Free Zone" หรือเขตปลอดอากรตามกฎหมายศุลกากร เพื่อรองรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งกำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และในอนาคตจะมีการขนส่งและการลงทุนโดยเฉพาะจากกลุ่มทุนจีนอย่างมหาศาล
Customs Free Zone มีข้อกำหนดว่าภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนและบริหารงานภายในเองทั้งหมด ภาครัฐจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้จัดตั้งปีละประมาณ 300,000 บาท และเก็บค่าเช่าจากพื้นที่จัดตั้งโครงการตารางเมตรละ 150 บาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็นล็อก ขนาดกว้าง 20 คูณ 20 เมตร หรือรวมประมาณ 60,000 กว่าบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้ง Customs Free Zone ที่จัดตั้งแล้วประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เช่น คลังท่าเรืออยุธยา มีค่าเช่าสูงถึง 200 บาทต่อตารางเมตร แต่มุกดาหาร ไม่มีผู้เข้าใช้บริการมานานกว่า 3 ปีแล้ว เป็นต้น
ดร.อภิชาต บอกว่า การมี Customs Free Zone ถือเป็นจุดดึงดูดนักลงทุน ผู้นำเข้าสามารถนำไปเก็บหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าภายใน โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรหากว่าอยู่ภายในเขต ซึ่งมีตัวอย่างการจัดตั้งขนาด 50 ยูนิต คือภายในสามารถแบ่งเป็นที่เช่าโกดังสินค้าจำนวน 7 ยูนิต พื้นที่โรงงานแปรรูปผัก ผลไม้ อาหาร ฯลฯ จำนวน 33 ยูนิต พื้นที่โรงงานแปรรูปชิ้นส่วนที่ทำจากเหล็กและอลูมิเนียม 10 ยูนิต จะใช้ต้นทุนประมาณ 63 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งจากจากนั้นได้มีการขอความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มทุนจีนรุกลงทุนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนหลายแห่ง โดยเฉพาะตามชายแดนจีน-สปป.ลาว และภายใน สปป.ลาว ติดพรมแดนไทย ขณะที่บริเวณ อ.เชียงของ เชิงสะพานก็มีกลุ่มทุนจากบริษัท จิ่วโจว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สร้างโรงแรมอยู่ในฝั่งไทยที่ อ.เชียงของ ขณะเดียวกันมีกลุ่มทุนไทยประสานกับจีนตอนใต้เพื่อการลงทุนในหลายด้านทั้งการขนส่งและการค้า แต่ Customs Free Zone มีเผยแพร่ออกมาน้อยมาก
ด้านนายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า ตามปกติการจะลงทุนจะต้องดูว่าพื้นที่และช่วงเวลาน่าลงทุนหรือไม่ ซึ่งกรณีของ อ.เชียงของ ปัจจุบันราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างมากและบางส่วนเป็นเขต สปก.4-01 ส่วนการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าจากกลุ่มธุรกิจภาคกลาง ดังนั้นกลุ่มทุนท้องถิ่นคงต้องพิจารณาให้หนักก่อนการลงทุน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าเวทีนี้ยังจัดระดมความเห็นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าเพื่อรองรับ CBTA หรือข้อตกลงขนส่งทางบกซึ่งกลุ่มประเทศใน GMS ได้ทำร่วมกันเพื่อเปิดให้แต่ละฝ่ายสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าประเทศละ 200 คันแล่นผ่านตลอดแนว ซึ่งทดลองใช้ตามเส้นทางไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม ผู้ระดมความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเปลี่ยนหัวลากเพราะต้องการให้เอกชนไทยรับช่วงต่อ กรณีมีการขนส่งภายในประเทศ ที่ประเทศอื่นขับเลนขวา และผู้ประกอบการจีนก็มีการดำเนินการแล้วที่เมืองโม่หาน-บ่อเต็น ชายแดนจีนตอนใต้-สปป.ลาว บนถนน R3A ซึ่งเป็นจุดที่มีความสะดวกมากที่สุดทั้งต่อเอกชนไทยและจีน |
|
|
|
|
|
|