มฟล. พร้อมเปิด ‘สำนักวิชาจีนวิทยา’ ในปี 2554 ทูตจีนประจำไทย รับสนับสนุน เตรียมกำลังคนรับการค้าไทยจีน ย้ำเชียงรายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
รศ.ดร.เทอด เทศประทีป อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย ถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับนักศึกษาว่า นอกจากการพัฒนาให้นักศึกษาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 แล้ว เพื่อเป็นการรองรับโลกการค้าหรือการทำงานปัจจุบัน ที่ภาษาจีนมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น จึงต้องสนับสนุนให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาจีนให้เป็นภาษาที่ 3 ในปี 2554 นี้ มฟล. พร้อมที่จะเปิด ‘สำนักวิชาจีนวิทยา’ จากฐานกำลังที่สำคัญคือ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ พันธกิจหลักของศูนย์ฯ เพื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสศึกษาและเข้าใจทั้งภาษาและวัฒนธรรมจีน โดยผ่านหลักสูตรภาษาจีนหลายหลักสูตรที่เปิดสอนขึ้นในมหาวิทยาลัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการจัดหาผู้สอนและอาสาสมัครสอนภาษาจีน ในการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ดังนี้ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนภาคพิเศษปริญญาตรีใบที่ 2, หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลและการล่ามภาษาจีน-ไทย และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ
“ด้วยความเข้มแข็งทางภาษาจีน มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการในการเปิดสำนักวิชาจีนวิทยาและขอการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสถานฑูตเพื่อให้เกิดความโดดเด่นทางด้านการัดการเรียนการสอนทางด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าว
นอกจากนี้ มฟล. ยังมีพันธมิตรทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน มีความร่วมมือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา การเปิดหลักสูตรร่วมและการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนร่วมกัน เช่น Yunnan Normal University, Xiamen University, Oxbridge College (Kunming), Yunnan University of Finance Economics เป็นต้น
ด้าน ฯพณฯ ก่วนมู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในโอกาสเยือนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่า ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ไทย-จีน ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า กันอย่างเป็นสาระมากกว่าที่ผ่านมา มีการเพิ่มทุนมากขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตด้านการค้าก็มากขึ้น ปี 1989 ระหว่างไทย-จีน มีปริมาณการค้าทั้งหมด 1,000 ล้านเหรียญ ปีถัดมาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเป็น 2,000 ล้านเหรียญ ปี 2008 ยอดการค้าทะลุไปถึง 41,000 ล้านเหรียญ ติดอันดับ 11-12 ของโลก สำหรับปี 2010 นับจากมกราคม-ตุลาคม ตัวเลขอยู่ที่ 30,000 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะการค้าระหว่างชายแดน จากท่าเรือ อ.เชียงแสน จ. เชียงราย และท่าเรือจิ่งหง มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน มีความก้าวหน้าอย่างมาก หนทางหนึ่งที่ไทยและจีน จะรับมือกับตัวเลขการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้ด้วยการพัฒนากำลังคน สถานทูตจะดูแลบริการ การสอนภาษาจีนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้การติดต่อสัมพันธ์กันมากต่อไป
“การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา แม้ว่าภาษาอังกฤษจะใช้ได้ทุกมุมโลก ภาษาจีนก็มีความสำคัญเพราะเราเป็นเพื่อนกัน มีความร่วมมือกันหลายอย่าง เชียงรายในฐานะจุดเชื่อม เป็นส่วนของประเทศไทยที่ใกล้จีนมากที่สุด ในขณะนี้ก็นับว่ายังต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาจีนอีกมาก ยิ่งการคมนาคมมีหลายช่องทาง จึงไม่เฉพาะการค้าเท่านั้น ยังหมายถึงการท่องเที่ยวด้วย การเรียนภาษาจีนจึงจำเป็นและสำคัญมาก จีนก็ให้ความสำคัญ ส่งบุคลากรมาสนับสนุน ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาจีนให้เข้มแข็งมากขึ้น” เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าว |