(28 สิงหาคม พ.ศ. 2555, อ.เมือง จ.เชียงใหม่) – กลุ่มชาวไร่และผู้บ่มใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียทางภาคเหนือ แสดงความกังวลต่อร่างพรบ. ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบและแรงงานจำนวนกว่า 139,000 คนในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งปลูกยาสูบเกือบ 70,000 ไร่ เนื่องจากหลายมาตรามีความคลุมเครือ จำกัดสิทธิชาวไร่ และให้อำนาจกระทรวงฯ ในการออกกฎหมายลูกภายหลังโดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวไร่ยาสูบและผู้เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้รัฐบาลและส.ส. ภาคเหนือคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือ
สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบในภาคเหนือ 6 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้บ่มฯ เชียงใหม่ สมาคมผู้บ่มฯ ลำปาง สมาคมผู้บ่มฯ น่าน สมาคมผู้บ่มฯ เชียงราย-พะเยา สมาคมผู้บ่มฯ แพร่ และ สมาคมพัฒนาชาวไร่บ่มเองเชียงใหม่ พร้อมด้วยตัวแทนชาวไร่ยาสูบภาคเหนือกว่า 400 ราย ได้เข้าร่วมฟังประชาพิจารณ์ร่างพรบ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...... ในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา และได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายในหลายประเด็นเพราะจะมีผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นต้นน้ำของธุรกิจยาสูบ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่กว้างมากและขาดความชัดเจนในหลายประเด็น อีกทั้งยังให้อำนาจกับกระทรวงสาธารณสุขไปปออกกฎเกณฑ์เพื่อขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่ภายหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายกรณีเป็นการจำกัดหรือริดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะผ่านกระบวนการของผู้แทนราษฎร โดยมาตราที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวไร่เช่น มาตรา 39 ในการห้ามใช้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงหรือออกประกาศภายหลังที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นใด ๆ ซึ่งสามารถบีบบังคับให้ชาวไร่ยาสูบและผู้บ่มถึงขั้นหมดอาชีพ
นายสุธี ชวชาติ นายกสมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า “สิ่งชาวไร่กังวลเป็นอย่างยิ่งคือมาตรา 39 เรื่องส่วนประกอบ ซึ่งได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีมาออกประกาศห้ามการใช้ส่วนประกอบในภายหลังนอกเหนือจากกฎกระทรวง โดยถ้าหากมีการประกาศห้ามใช้ส่วนประกอบที่จำเป็น ก็จะมีผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบอย่างรุนแรง ซึ่งถึงขั้นหมดอาชีพ นอกจากนั้น ยังมีการจำกัดสิทธิของชาวไร่ เช่นในมาตรา 14 ให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎหมาย ซึ่งมีแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้แทนจากNGO กลุ่มรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ แต่กลับไม่มีผู้แทนจากกลุ่มชาวไร่ยาสูบซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้ความคิดเห็นก่อนจะกำหนดออกมาเป็นระเบียบกฎหมาย ซึ่งการออกกฏหมายโดยไม่มีความรู้ด้านยาสูบและศึกษาผลกระทบนั้น ไม่เป็นธรรมกับชาวไร่และส่งผลร้ายแก่ภาคเกษตรกรรมยาสูบไทยอย่างยิ่ง ซึ่งในภาคเหนือนั้นเกษตรกรรมยาสูบเป็นอาชีพที่เป็นวัฒนธรรมที่คนเมืองสืบทอดกันมากว่า 3-4 ชั่วอายุคน”
นางสาวสกาวรัตน์ โลหะโชติ นายกสมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดน่าน กล่าวว่า “ในร่างพรบ. ฉบับนี้ มีการให้อำนาจรัฐมนตรีไปออกเป็นกฎหมายลูกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นอะไรที่กว้างมาก ไม่ทราบว่าต่อไปจะมีการกำหนดกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงใดเพิ่มเติม เหมือนการเซ็นต์เช็คเปล่าให้คณะกรรมการ ตัวอย่างเช่นในหมวด 4 ซึ่งมี 15 มาตรา มีการให้อำนาจเป็นออกกฎเกณฑ์ภายหลังได้ 8-9มาตรา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ต้องผ่าน ส.ส.หรือสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น”
นางวรนุช จิตตาลาน นายกสมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มว่า “คณะผู้ยกร่างฯ ได้คำนึงถึงหรือไม่ว่าบางมาตรานั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายเช่นบุหรี่เถื่อนบุหรี่ปลอม เช่นมาตรา 40 มีความตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ซองบุหรี่มาตรฐานที่จะทำให้บุหรี่ปลอมทำได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงแต่อย่างใด แต่จะกลับทำให้ความต้องการใช้ใบยาสูบลดลง ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้ ส.ส. 25 ท่านในภาคเหนือซึ่งปลูกยาสูบเกือบทุกจังหวัดได้รับฟังผลกระทบและความกังวลของชาวไร่ยาสูบในพื้นที่ของท่าน”
นอกจากนั้น ยังมีมาตราที่เพิ่มภาระแก่ชาวไร่ เช่น การจำกัดการติดต่อระหว่างชาวไร่ยาสูบ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาสูบและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการติดต่อกันเป็นประจำและเป็นปกติไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานยาสูบ การออกกฎหมายมาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือการติดต่อนั้นถือเป็นแนวคิดที่ขัดกับหลักธรรมภิบาล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสนอมาตรการให้ปลูกพืชทดแทนและงดให้ความช่วยเหลือแก่ชาวไร่ตามข้อเสนอของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือ FCTC ที่จะมีการประชุมที่เกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งชาวไร่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และจะขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวเพราะยาสูบเป็นพืชที่ทำรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวไร่มากกว่าพืชอื่น ทั้งนี้สมาคมผู้บ่มฯ (ส.ย.ท.) จะเป็นตัวแทนชาวไร่ยาสูบทางภาคเหนือในการทำจดหมายถึงกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง รวมทั้ง ส.ส. ในภาคเหนือเพื่อชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบจากร่างกฎหมายฉบับนี้และจากกรอบอนุสัญญาฯ เพื่อให้พิจารณาแก้ไขต่อไป
เกี่ยวกับสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย
สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย หรือ ส.ย.ท. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Tobacco Growers, Curers and Dealers Association (TTA) ก่อตั้งจากการรวมกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเกษตรและการค้าใบยาสูบ อันประกอบด้วยสมาคมและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ กลุ่มผู้บ่ม และกลุ่มผู้ค้าใบยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนียในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ สมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดเชียงราย-พะเยา สมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดน่าน สมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดแพร่ สมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดลำปาง และสมาคมชาวไร่บ่มเองเชียงใหม่ ซึ่งครอบคลุมเครือข่ายชาวไร่ ผู้พึ่งพิง และแรงงาน ยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนีย ใน 8 จังหวัดภาคเหนือรวมกว่า 320,000ราย |