สาธารณสุขเผย รถจักรยานยนต์ เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 1 คน และทุก 2 ชั่วโมง จะมีผู้พิการเพิ่มขึ้นอีก 1 คน แนะสวมหมวกกันน็อคได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี จะช่วยลดการบาดเจ็บ ลดการเสียชีวิต โดยเลือกหมวกกันน็อคที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. เลือกหมวกกันน็อคแบบปิดเต็มหน้าดีที่สุด เลือกสีที่ทำให้เห็นเด่นชัดแต่ไกล เช่น สีเหลือง ส้ม แดง เป็นต้น ขับขี่ไม่ควรเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรัดคางให้พอดีทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร ไม่ว่าจะขับขี่ในระยะทางใกล้หรือไกล กลางวันหรือกลางคืน หากไม่รัดคางหมวกจะกระเด็นออกจากศีรษะ
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยวันละ 30 คน ซึ่งเกิดจากการขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 70-80 หรือเฉลี่ยวันละ 24 คน ขณะที่ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปีละกว่า 1 แสนคน โดยร้อยละ 5 กลายเป็นผู้พิการ ครึ่งหนึ่งของการบาดเจ็บรุนแรงเป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะ และเฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง จะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐานและสวมอย่างถูกวิธีด้วย หมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ เลือกหมวกกันน็อคแบบปิดเต็มหน้าดีที่สุด ใช้บังลม กันฝุ่น ให้ความปลอดภัยทั้งศีรษะ ไม่ต้องกลัวหายใจไม่ออกหรือไม่ได้ยินเสียง เพราะมีการเจาะรูไว้ให้แล้ว เลือกหมวกกันน็อคที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น มอก. 369-2539 เลือกสีที่ทำให้เห็นเด่นชัดแต่ไกล รถคันอื่นสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สีเหลือง ส้ม แดง เป็นต้น สำหรับความเร็วที่หมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐานพอจะรับได้ และค่อนข้างปลอดภัยในการขับขี่คือความเร็วไม่ควรเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมวกกันน็อคมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี หากเกินกว่านี้ควรหาซื้อใหม่ดีกว่า เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากการเสื่อมสภาพของพลาสติกและโฟม จนไม่สามารถรับแรงกระแทกแทนศีรษะได้ และหมวกที่เคยตกกระแทกมาแล้วอายุการใช้งานจะน้อยลงไม่ควรนำมาใช้อีก
ที่สำคัญที่สุดในการสวมหมวกกันน็อคต้องรัดคางให้พอดีทุกครั้ง ทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร ไม่ว่าจะขับขี่ในระยะทางใกล้หรือไกล กลางวันหรือกลางคืน หากสวมแล้วไม่รัดคางก็ไม่มีประโยชน์ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหมวกจะกระเด็นออกจากศีรษะ ไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า หมวกกันน็อคเมื่อใช้ไปนานๆ จะมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากเหงื่อของผู้สวมใส่ ดังนั้นควรทำความสะอาดเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าใช้บ่อยๆทุกวัน รวมถึงการใช้ร่วมกันหลายคน เช่น หมวกกันน็อคสำหรับผู้โดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ก็ควรจะดูแลทำความสะอาดบ่อยๆเป็นพิเศษ
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ 120/2555 ********************** 24 กันยายน 2555 |