สาธารณสุขเผยโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นนักฆ่าอันดับหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตสูงถึง 17.3 ล้านคนต่อปี และร้อยละ 82 ของสาเหตุการเสียชีวิตมาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถหลีกเลี่ยงได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ หรือเบาหวาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถป้องกันและควบคุมได้ โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สมาพันธ์หัวใจโลก ได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์หัวใจโลก สำหรับปีนี้ใช้ประเด็นวันรณรงค์หัวใจโลกเดิมของปีที่แล้ว ได้แก่ “หนึ่งคือหัวใจ อีกหนึ่งนัยคือบ้านเรา ทุกบ้านรวมกันได้ โลกทั้งใบ...ใจเดียวกัน” (One World,One Home, One Heart) โดยเน้นการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เพื่อสร้างกระแสการตื่นตัวให้กลุ่มเป้าหมายได้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การป้องกันการเกิดโรค และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อลดการเกิดโรคและความรุนแรงของโรค โดยทุกคน ทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันดูแลสุขภาพหัวใจของตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ยืนยาว และเพื่อการมีสุขภาพหัวใจที่ดี
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า สมาพันธ์หัวใจโลก ให้ข้อมูลว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นนักฆ่าอันดับหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตสูงถึง 17.3 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573) จะมีการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มเป็น 23 ล้านคนทั่วโลก และร้อยละ 82 ของสาเหตุการเสียชีวิตมาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
สำหรับประเทศไทยโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข และเป็นสาเหตุการป่วย/การตายอันดับต้นๆของคนไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองใหญ่(อัมพฤกษ์ อัมพาต) พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 35,050 รายหรือเสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 15 นาที มีผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 628,871ราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปี แนวโน้มพบในคนอายุน้อยลง สาเหตุเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการกินกับการออกแรง โดยกินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง แต่กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รวมทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำหนักเกิน ระดับไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลง ซึ่งทำได้และง่ายกว่าที่จะรอให้ป่วย และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากเท่ากับเมื่อป่วยแล้วต้องรักษายากมาก ไม่หายขาด ต้องเสียทั้งเงิน เวลา และสุดท้ายต้องเสียชีวิต แนะการป้องกันที่สำคัญ คือ เลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม ปริมาณพอดีกับกิจกรรมการใช้พลังงานของแต่ละคน ออกกำลังกายเพียงพอ อารมณ์ผ่อนคลาย ไม่สูบบุหรี่และลดดื่มสุรา
2/ อาการเตือน..............................................
-2-
อาการเตือนของผู้ที่เป็นภาวะหัวใจขาดเลือด จะเจ็บแน่นหรือจุกหน้าอก หรือปวดบริเวณกลางหน้าอกระหว่างการหายใจ ปวดร้าวไปที่แขน หลัง คอ ขากรรไกร หรือที่กระเพาะอาหาร หายใจถี่สั้น แม้ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระวนกระวาย แน่นท้อง เหงื่อออก ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะเล็กน้อย
ส่วนอาการเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน จะมีอาการดังนี้ กล้ามเนื้อที่หน้า แขน ขาอ่อนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างเฉียบพลัน สับสน มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือความเข้าใจอย่างเฉียบพลัน มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างอย่างเฉียบพลัน มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน เวียนศีรษะ สูญเสียการทรงตัวหรือไม่สมดุลอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้าพบอาการเตือนเหล่านี้ ให้โทร 1669 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที หรือนำส่งโรงพยาบาลด่วนที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง
หากคนในครอบครัวมีอาการของหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ต้องส่งโรงพยาบาลทันที โดยพบมากกว่าร้อยละ 70 ของภาวะฉุกเฉินของหัวใจหรือทางเดินหัวใจล้มเหลว มักเกิดขึ้นที่บ้านในขณะที่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ด้วย นายแพทย์ชำนาญกล่าว
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ 121/2555 ********************** 25 กันยายน 2555 |