รพ.เครือเกษมราษฎร์เตรียมขยายสาขาเต็ม พท.ชายแดนไทย-พม่า |
|
ประกาศเมื่อ
05 ตุลาคม 2012 เวลา 13:39:55 เปิดอ่าน
1322 ครั้ง |
|
|
โรงพยาบาลเครือเกษมราษฎร์เตรียมขยายสาขาเต็มพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ระบุเพื่อเป็นการรองรับ AEC หวั่นการเป็นประชาคมฯ ธุรกิจโรงพยาบาลจะแข่งขันสูง แม้ไม่มีปัญหาสมองไหลแต่แง่การเทกโอเวอร์จากทุนข้ามชาติน่าจับตามอง
วันนี้ (4 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารในเครือเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระพรหมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการจัดตั้งโรงพยาบาล โดยมีผู้บริหารและบุคลากรเข้าร่วมครบครัน
ทั้งนี้ พิธีดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ทางบริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนเจ้าของกิจการโรงพยาบาลกำลังมีโครงการขยายกิจการโรงพยาบาลทั้งในพื้นที่ อ.เมือง และอำเภอชายแดนที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ เพื่อรองรับอนาคตอย่างขนานใหญ่
นายแพทย์เฉลิมเปิดเผยว่า ในปัจจุบันเครือเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ให้ความสำคัญต่อกิจการโรง พยาบาลในพื้นที่ จ.เชียงรายอย่างมาก จึงอยู่ในช่วงขยายพื้นที่และกิจการ โดยกรณีโรงพยาบาลใน อ.เมือง เดิมมีเนื้อที่ 7 ไร่ ก็ขยายเป็นประมาณ 26 ไร่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อจะก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหลังใหม่เพิ่มอีกประมาณ 100 เตียง โดยมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมสรรพเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจบในที่เดียวโดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ อีก
โดยโรงพยาบาลหลังใหม่ดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 800 ล้านบาท และมีค่าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์อีกประมาณ 100 ล้านบาท ใช้เนื้อที่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร ปัจจุบันกำลังดำเนินการโดยต้องผ่านการประเมินผลกระทบ การศึกษาพื้นที่ ฯลฯ และใช้เวลาก่อสร้างอีกราว 1 ปีครึ่ง คาดว่าอย่างเร็วสุดสามารถเปิดได้ราวต้นปี 2558
นายแพทย์เฉลิมกล่าวว่า นอกจากในเขต อ.เมืองแล้ว บริษัทจะขยายกิจการที่อำเภอชายแดนด้วย โดยที่ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่านั้นปัจจุบันมีคลินิกของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์อยู่แล้ว แต่สภาพคับแคบอยู่หน้าด่านพรมแดน ขณะที่มีลูกค้าไปใช้บริการวันละกว่า 300 คน จึงได้ขยายไปยังแห่งใหม่บริเวณใกล้เคียงกันเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อปรับปรุงด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 30 เตียง โดยมีแพทย์เฉพาะทางไปประจำและสามารถส่งผู้ป่วยหนักไปยังโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ เชียงราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ใน อ.เมืองได้ด้วย
เช่นเดียวกับ อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งมีถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ-แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งจะมีการสร้างเป็นโรงพยาบาล 30 เตียงขึ้นมาใหม่ด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดได้ทันกลางปี 2556 ต่อไป ส่วนที่ อ.เชียงแสน ทางบริษัทได้จัดซื้อที่ดินบริเวณเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน เอาไว้ประมาณ 11 ไร่เตรียมรองรับอนาคตแล้วด้วย
นายแพทย์เฉลิมกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยเป็นโรงพยาบาลที่มีหุ้นมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท เราจึงมีศักยภาพในการขยายบริการ และสาเหตุที่ให้ความสำคัญที่ จ.เชียงรายมากเพราะประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ขา คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งกรณีของ จ.เชียงรายถือว่าครบถ้วน ยิ่งจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ยิ่งต้องมีบริการรองรับภูมิภาคนี้ด้วย
โดยก่อนหน้านี้ตนได้เคยศึกษาดูงานในพื้นที่ตั้งแต่ประเทศจีนและในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าศักยภาพด้านการรักษาพยาบาลของไทยถือว่าสูงมาก และมีมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงควรมีบริการรองรับตรงนี้ด้วย
“ผมมีโอกาสเข้าไปเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยว่าในปัจจุบันไทยเรามีระเบียบให้คนในประเทศเพื่อนบ้านทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว หรือบอร์เดอร์พาสระยะเวลา 7 วัน รัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งระเบียบดังกล่าวอาจจะไม่ทันต่อยุคสมัยและรองรับเออีซีได้โดยเฉพาะการ เจ็บป่วย ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการดูแลรักษา เวลาย่อมไม่เพียงพอรองรับ อาการป่วยบางชนิดที่ต้องใช้เวลามากกว่า 7 วันหรือต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใหญ่ได้” นายแพทย์เฉลิม กล่าว และว่า
ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมากโดยเฉพาะใน สปป.ลาว ที่เขตเศรษฐกิจมากมายโดยเฉพาะตรงกันข้ามสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ที่ยังโตไม่หยุด เช่นเดียวกับในพม่าที่สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นคนเหล่านี้ย่อมแสวงหาการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าจึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะให้บริการอย่างยิ่ง
ประธานกรรมการบริหารในเครือเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า จากความกังวลเรื่องการเปิดเออีซีแล้วจะมีปัญหาเรื่องการเข้ามาหรือออกไปหรือปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ตนเห็นว่าไม่น่าห่วง เพราะอาชีพดังกล่าวแม้จะมีอัตราขาดแคลนในประเทศไทยสูง แต่ระเบียบกฎเกณฑ์ในการทำงานก็สูงตามไปด้วย เช่น ต้องสอบผ่านภาษาของประเทศนั้นๆ เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าจับตามองกลับเป็นเรื่องกลุ่มทุนข้ามชาติมากกว่า
โดยปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มทุน เช่น กลุ่มคาซาน่า ฯลฯ เริ่มตระเวนซื้อกิจการโรงพยาบาลและอื่นๆ ในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย ฯลฯ คาดว่าเพื่อเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ข้ามประเทศดังกล่าว แต่จะใช้การเข้าไปซื้อหรือเทกโอเวอร์กิจการโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกิจการโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 14 ราย จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง |
|
|
|
|
|
|