สาธารณสุขเผยโรคคอตีบป้องกันได้ด้วยวัคซีนพื้นฐาน โรคนี้ติดต่อทางการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดหนาแน่น และล้างมือบ่อยๆ ปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หากป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดคนอื่น
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงการระบาดของโรคคอตีบที่จังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นมาว่า การระบาดคาดว่าน่าจะติดมากับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านเข้ามาทางพรมแดนไทย-ลาว โรคคอตีบเป็นโรคที่พบน้อยลงในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนพื้นฐาน ฉีดให้เด็กไทยทุกคนฟรี ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน และกระตุ้นอีก 3 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง 4 ปี และ 12 ปี หรือกำลังเรียนชั้น ป.6
จังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเพื่อนบ้าน อาจมีแรงงานข้ามถิ่นมาทำงานและนำเชื้อโรคเข้ามาได้ นอกจากนี้เชียงรายยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวนี้อีกจำนวนมาก เนื่องจากโรคคอตีบจะติดต่อทางการหายใจ จากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อโรคจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางหายใจ บางครั้งติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการอมดูดของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดหนาแน่น และล้างมือบ่อยๆ ปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หากป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดคนอื่น
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า อาการของโรคคอตีบจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน โดยจะมีไข้ต่ำๆ คล้ายไข้หวัด และมีไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร กลืนลำบากลักษณะพิเศษคือจะมีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นที่ทอนซิลทั้ง 2 ข้างและลิ้นไก่ ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อถูกทำลายจากพิษเชื้อโรคทำให้เนื้อตาย ในรายที่มีอาการรุนแรงจะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต อาจเสียชีวิตได้ โรคคอตีบสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กิน 14 วัน ซึ่งสามารถหยุดการแพร่เชื้อโรคได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มให้ยา ในผู้ป่วยที่มีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ หลังจากหายเป็นปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตามเกณฑ์ 2 ครั้ง เพราะการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดการดำเนินงานตามมาตรการในการควบคุมโรคคอตีบ 3 มาตรการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.ควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน หากพบให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรค โดยการสำรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดและพาหะนำโรค ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดโรค 2.สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เข้มแข็งโดยการเร่งรัดการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ และ 3.เน้นสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วน โดยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคคอตีบให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างทั่วถึง
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ 6/2556 ********************** 26 ตุลาคม 2555 |