สาธารณสุข เผยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์/อัมพาต 1 คน ทุกๆ 6 วินาที ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ในปี 2552 พบเสียชีวิตกว่าแสนคนหรือ 3 คนในทุก 2 ชั่วโมง ผู้ที่รอดชีวิตมักพิการเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม หากพบอาการเตือน เช่น ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง พูดไม่รู้เรื่อง มุมปากข้างหนึ่งตกเวลายิ้ม การมองเห็นลดลง สูญเสียการสมดุลการเดิน ให้รีบส่งโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง จะช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก ประเด็นการณรงค์ในปี 2553-2555 คือ “One in Six” หรือ “ 1 in 6” ซึ่งมากจากข้อเท็จจริงของโรคหลอดเลือดสมองคือ ในทุก 6 วินาทีจะเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นในการดูแล ป้องกันตนเอง กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม การดูแลผู้ป่วยหลังเกิดอาการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเพื่อสร้างพลังอำนาจให้กับบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์/อัมพาต เป็นโรคระบบประสาทที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกและของไทย เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของคนทั่วโลก องค์การอัมพาตโลกรายงานว่า สถานการณ์ทั่วโลกโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 ของประชากรอายุมากกว่า 15-59 ปี ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6 ล้านคน
จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2552 พบมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 176,342 คน หรือคิดเป็น 3 คนในทุก 2 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยที่รอดชีวิตมักมีความพิการหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งความพิการจะส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติด้วย ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ขาดการออกกำลังกาย อ้วน สูบบุหรี่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีประวัติญาติสายตรงเคยป่วย อาการเตือนที่สำคัญของโรคนี้คือ สมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งอาจพบ 1 อาการหรือมากกว่า ได้แก่ การอ่อนแรงของหน้า ของแขนหรือขาซีกเดียว สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง การมองเห็นลดลง มีปัญหาด้านการเดิน มึนงง สูญเสียสมดุลการเดิน โดยพบผู้ที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว 1 ใน 5 คน จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองภายใน 3 เดือน หากพบอาการเตือนดังกล่าว ให้รีบส่งโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง จะช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่ออีกว่า การป้องกันไม่ให้ป่วย ขอให้ปฏิบัติตัวอย่างง่าย ตามแนวทาง 6 ข้อดังนี้ 1. รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง 2.มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3. ควบคุมตนเองไม่ให้อ้วน 4.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5. ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมบุหรี่มือสอง และ6.เรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ อัมพฤกษ์/อัมพาต และแนวทางการป้องกัน แก้ไข
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ 7/2556 ********************** 29 ตุลาคม 2555 |