สบท.จับมือสองหน่วยงาน ตั้งทีมสำรวจตรวจสอบคุณภาพบริการ โทรศัพท์มือถือ 4 เครือข่าย พิสูจน์ปัญหาสายหลุด อับสัญญาณ โทรข้ามเครือข่ายยาก ทั่วกรุงฯ หวังเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่ตรงใจ
เมื่อวานนี้(13 ธ.ค. 53) สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ( TRIDI) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว โครงการทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากมิติการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อศึกษาคุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหาตครโดยการสะท้อนประสบการณ์ในการใช้งานของผู้บริโภค
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้บริการโทรศัพท์มือถือยังพบปัญหาเช่น ในรอบ 3 ปี ยังมีปัญหาการโทรข้ามเครือข่ายยาก หรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร แต่ละเครือข่ายก็ยังมีบางจุดที่อับสัญญาณ อีกทั้งในขณะนี้มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือการย้ายเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม การให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพการให้
บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงทำให้เกิดการประสานงานเกิดโครงการนี้
“ เป้าหมายของโครงการคือ เพื่อทดสอบคุณภาพบริการโทรศัพท์มือถือ ในแง่การติดต่อไปยังโทรศัพท์มือถือภายในเครือข่ายและนอกเครือข่าย ความถูกต้องของหมายเลขโทรศัพท์ที่แสดงในจอผู้รับ โดยเป็นการทดสอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกใช้บริการโดยเครือข่ายที่จะถูกทดสอบครั้งนี้คือ เอไอเอส ดีแทค ทรูและฮัทช์ และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ธันวาคมปีนี้ถึงเดือนมีนาคม 2554 โดยเรามีการทดสอบ 2 รอบเพื่อพิสูจน์ว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ” ผอ.สบท.กล่าว
ด้านผศ.ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการนั้น ทีมสำรวจจะทำหน้าที่เป็นผู้บริโภค ออกสำรวจคุณภาพของบริการจากโทรศัพท์มือถือ ไปยังโทรศัพท์มือถือ เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจวัด คือ อัตราสายหลุด อัตราการโทรไม่ติดหรือเจอฝากข้อความ อัตราการโทรสำเร็จ เวลาที่ใช้ตั้งแต่กดโทรจนถึงคู่สนทนารับสาย อัตราที่ผู้รับสายไม่สามารถโทรกลับได้ เนื่องจากหน้าจอแสดงเบอร์ผิด หรือไม่แสดงเบอร์ โดยเกณฑ์ทั้งหมดจะสำรวจทั้งจากเครือข่ายเดียวกันและต่างเครือข่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงพื้นที่ไหนสายหลุดบ่อย โทรติดยากด้วย
“ทีมสำรวจจะออกทดสอบให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในกรุงเทพมหานครตามเส้นทาง 49 เส้นทาง เช่น ถนนสาธร ถนนพระราม 4 ถนนวรจักร ถนนลาดพร้าว ตั้บงแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง และมีการทำซ้ำบนถนนเส้นเดียวกันไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง รวมการทดสอบ 30,000-40,000 ครั้ง เป็นระยะเวลารวม 20 วันจากนั้นจึงนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้บริโภครับทราบต่อไป “ผศ.ดร.เชาวน์ดิศ กล่าว |