สาธารณสุขเชียงราย เผยผลการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด 13,023 คน พบเสี่ยงเป็นโรคเอ๋อหรือปัญญาอ่อนร้อยละ 5 เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 3 เร่งหากลยุทธ์ป้องกันโรคปัญญาอ่อน โดยใช้หลักการเพิ่มสารไอโอดีนในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในไข่ไก่ และพืชผัก แนะหญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับสารไอโอดีนป้องกันลูกที่คลอดออกมาไม่ให้เป็นโรคเอ๋อหรือปัญญาอ่อน และทุกคนควรบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนวันละ 1 ช้อนชาจะได้สารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดจัดประชุมสัมมนาเรื่อง “การหากลยุทธ์ป้องกันโรคปัญญาอ่อนจากงานตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด” ในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการชันสูตรจากโรงพยาบาลทุกแห่ง และผู้ปฏิบัติงานไอโอดีนจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ ประมาณ 100 คน โดยมี ดร.พงษ์สันติ์ สีจันทร์ ที่ปรึกษาโครงการนวัตกรรมแก้ปัญหาโรคเอ๋อและการขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนด้วยการเสริมไอโอดีนทางชีวภาพในห่วงโซ่อาหาร เป็นวิทยากรในหัวข้อ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน”
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคเอ๋อหรือปัญญาอ่อน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข ขณะนี้ทารกที่คลอดในโรงพยาบาลทุกคน จะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ เพื่อป้องกันและรักษาโรคที่มีมาแต่กำเนิด โดยเฉพาะโรคเอ๋อหรือปัญญาอ่อน ในปีนี้จังหวัดเชียงราย ได้รับรายงานผลการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดจากโรงพยาบาลทุกแห่ง 13,023 คน พบเสี่ยงเป็นโรคนี้ร้อยละ 5 เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งทารกกลุ่มเสี่ยงนี้ได้รับการตรวจยืนยันทุกราย และได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร
การป้องกันจึงต้องเน้นเสริมไอโอดีนให้มากที่สุดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อสร้างเซลล์สมอง กระตุ้นการเจริญเติบโต ป้องกันเด็กเป็นเอ๋อ เป็นใบ้ ไอคิวต่ำ ส่วนผู้ใหญ่หากพบว่าเริ่มเชื่องช้า ขี้เกียจ ซึมเศร้า และเฉื่อยชา ให้เสริมไอโอดีนเพื่อกระตุ้นฮอร์โมนไธร็อกซิน ที่ช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนวันละ 1 ช้อนชาจะได้สารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน นอกจากนี้ไอโอดีนยังมีอาหารทะเล น้ำปลา ซอสปรุงรสที่ทำจากถั่วเหลือง ซีอิ๊ว หรือผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ซึ่งสามารถตรวจดูจากฉลากผลิตภัณฑ์
ขณะนี้มีนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาโรคเอ๋อและภาวะการขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยการเพิ่มสารไอโอดีนในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งผนวกเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเอง และการมีส่วนร่วมของชุมชนแต่ละท้องถิ่น โดยให้แต่ละชุมชนเติมสารไอโอดีนลงในไข่ไก่ และพืชผัก เช่น ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ฯ
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 28/2556 ********************** 19 ธันวาคม 2555
ณัฏฐลักษณ์ ...ข่าว /วิภา....ตรวจ |