สาธารณสุขเตือนผู้ปกครอง ให้สังเกตอาการเด็ก หากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ กลัวแสง และพบจุดขาวๆเล็กๆมีขอบสีแดงในกระพุ้งแก้ม ให้สงสัยเป็นโรคหัดหรือไข้ออกตุ่ม ควรพาไปพบแพทย์ แนะผู้ปกครองให้แยกผู้สงสัยโรคหัดออกจากผู้อื่น ตั้งแต่มีไข้สูง 1-2 วัน เริ่มมีผื่น หลังผื่นขึ้น 4 วัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตั้งแต่ปี 2549-2554 พบว่าโรคหัดมักเกิดการระบาดในช่วงเดือนมกราคม มากสุดพบในกลุ่มอายุ 0-4 ปี ในปี 2555 ข้อมูลจากงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายมีรายงานผู้ป่วยหัดจำนวน 142 ราย โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นหรือไข้ออกตุ่ม พบบ่อยในเด็กเล็ก หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles) ที่พบได้ในจมูกและลำคอผู้ป่วย ติดต่อกันง่ายมากโดยการไอ จามหรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เชื้อไวรัสในลำคอผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วันก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น และหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 14 วัน
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า อาการของโรคหัด จะเริ่มด้วยการมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆจะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัวประมาณ 2-3 วันไข้จะเริ่มลดลง ผื่นที่ขึ้นจะมีสีแดง และจะเข้มเป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง คงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายใช้เวลา 2 สัปดาห์ บางครั้งผิวหนังจะลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 2-3 วันก่อนผื่นขึ้น หากพบจุดขาวๆเล็กๆมีขอบสีแดงอยู่ในกระพุ้งแก้ม ควรพาไปพบแพทย์ การรักษาผู้ป่วยโรคหัด ถ้ามีไข้สูงให้กินยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัว ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ โดยให้รับประทานอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดออกจากผู้อื่นตั้งแต่มีไข้สูงพร้อมกับมีผื่นขึ้นจนถึงวันที่ 4 หลังผื่นขึ้น ตลอดจนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยจะฉีดวัคซีนหัดครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 ให้ในเด็กชั้น ป.1 ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน อย่างไรก็ตามโรคหัดยังคงมีรายงานการระบาดเป็นระยะๆอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาความครอบคลุมวัคซีนในบางพื้นที่ต่ำ หรือมีกลุ่มผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันเพราะไม่ได้รับวัคซีนในวัยเด็กมาร่วมอยู่ในสถานศึกษาหรือในสถานประกอบการ และไม่เคยป่วยมาก่อน นายแพทย์ชำนาญกล่าว
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข ********************** 7 มกราคม 2556
ณัฏฐลักษณ์ ...ข่าว
วิภา.........ตรวจ |