ม.พะเยาเดินหน้าตั้งโรงพยาบาลใหญ่-คาดเปิดได้ปี 60 |
|
ประกาศเมื่อ
22 ธันวาคม 2010 เวลา 11:06:59 เปิดอ่าน
1322 ครั้ง |
|
|
มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ก่อนสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยฯ ขนาดใหญ่ 750 เตียง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2560
รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยา แจ้งว่า มหาวิทยาลัยพะเยา ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในการสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ห้องประชุมพญางำเมือง เมื่อเร็วๆ นี้ โดย นายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน มีองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จังหวัดพะเยาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาบริบาลเภสัชกรรม และในปีการศึกษาหน้าจะเปิดรับนิสิตแพทย์รุ่นแรกอีกด้วย จึงมีความจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลไว้รองรับให้นิสิตเหล่านี้ได้ฝึกวิชาชีพในโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรและเป็นการฝึกประสบการณ์ก่อนออกไปประกอบอาชีพจริง อีกทั้งจะให้บริการรักษาพยาบาลบุคลากร นิสิตและประชาชนทั่วไปอีกด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยากล่าวว่า ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านสุขภาพและด้านเทคนิค รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกเป็นการสอบถามความเห็นของนิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
ส่วนขั้นตอนที่สองซึ่งกำลังดำเนินการในวันนี้เป็นขั้นตอนของการรับฟังความเห็นประชาชน, ขั้นตอนที่สามจะเป็นขั้นตอนการประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มการดูแลป้องกันระบบบำบัดน้ำเสีย, การจัดการปัญหาขยะ, การใช้ประโยชน์จากที่ดิน, การให้บริการของโรงพยาบาลและมีส่วนร่วมของชุมชน การป้องกันน้ำท่วมและการพังทลายของดิน และกลุ่มการประเมินผลกระทบทางสังคม และขั้นตอนสุดท้ายจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนอีกครั้ง
สำหรับพื้นที่ที่จะก่อสร้างศูนย์การแพทย์ดังกล่าว อยู่ที่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ในเนื้อที่กว่า 700 ไร่ โดยอาคารสูงไม่เกิน 3 ชั้น ในระยะแรกจะมีขนาด 480 เตียงและ 750 เตียง ส่วนแผนการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 4 เฟส โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 - 2557 คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป
สำหรับบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นประชาชนในการเปิดเวทีสาธารณะของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนในการนำประเด็นปัญหาความห่วงกังวล โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมานำเสนอ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สองในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อการสร้างศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพะเยา
ขณะที่ประเด็นความห่วงใยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารน้ำต้นทุนที่จะนำมาใช้ภายในมหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ และปัญหาน้ำเน่าเสียที่อาจเกิดขึ้น เพราะพื้นที่ตำบลแม่กาเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของจังหวัดพะเยา นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลเรื่องการตัดต้นไม้ในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้าง เรื่องการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล การจัดระบบจราจร และสถานที่จอดรถภายในศูนย์การแพทย์ เป็นต้น
นายรัฐศาสตร์ สมมะโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันป่าถ่อน อ.เมืองพะเยา กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องทรัพยากรป่าไม้ เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ขอให้รักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าโดยการปลูกต้นไม้ทดแทน นอกจากนั้น ยังมีความห่วงใยเรื่องปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย
ด้าน นางจิราภรณ์ คล้อยปาน รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่กา กล่าวทวงสัญญาจากมหาวิทยาลัยว่า ขอให้สร้างอาคารเชิงอนุรักษ์เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ การเปิดโอกาสให้คนพะเยาได้ทำงานภายในมหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ที่จะมีการก่อสร้าง การคงโควตาเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ของเด็กพะเยา การวางแผนเรื่องการใช้พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างของศูนย์การแพทย์และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และเรื่องการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
|
|
|
|
|
|
|