สาธารณสุขเผยวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก เสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่องค์การอนามัยโลกจัดว่ามีปัญหาวัณโรคสูง มีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 86,000 ราย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการดูแลรักษาผู้ป่วยให้หาย การรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นและหายจากวัณโรค
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน และร่วมกันต่อต้านวัณโรค ในปีนี้กรมควบคุมโรค ใช้คำขวัญในการรณรงค์เหมือนกับองค์การอนามัยโลกคือ Stop TB in my Lifetime We want “Thailand Free TB” ภาษาไทยคือ “เมืองไทย ปลอดวัณโรค” ซึ่งหมายความว่า “ในช่วงชีวิตของฉัน ฉันอยากเห็นเมืองไทยปลอดวัณโรค” ในปีนี้ได้ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงานรณรงค์และสื่อสารวัณโรคสู่สาธารณะ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานวัณโรคแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน รวมถึงเครือข่ายสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับวัณโรค การมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค เพื่อลดปัญหาวัณโรค โดยสำนักวัณโรคกำหนดให้ดำเนินการรณรงค์ระหว่างวันที่ 18-29 มีนาคม 2556
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่องค์การอนามัยโลกได้จัดว่ามีปัญหาวัณโรคสูง ขณะนี้มีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 86,000 ราย เมื่อรวมรายเก่าคาดมีคนไทยเป็นวัณโรคถึง 110,000 ราย จึงต้องช่วยกันทำให้วัณโรคหมดไปจากประเทศไทย การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หาย เพราะการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นและหายจากการเป็นวัณโรค โรคนี้ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอดไอ จาม โดยไม่ปิดปากปิดจมูก เชื้อโรคจะออกมากับละอองฝอยเสมหะ ลอยอยู่ในอากาศ ผู้ที่หายใจรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้เพียงร้อยละ 10 เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้และป้องกันเชื้อได้
ปัจจุบันวัณโรครักษาให้หายได้ด้วยยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยผู้ป่วยต้องกินยาให้ครบทุกวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 - 8 เดือน เมื่อมีอาการสงสัยคือ ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด หรืออาจมีอาการ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยเฉพาะผู้อาศัยร่วมบ้านหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอด เด็กเล็กที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ที่มีประวัติเคยต้องขังในเรือนจำ ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและรักษาที่เหมาะสม นายแพทย์ชำนาญกล่าว
ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 51/2556 ********************** 19 มีนาคม 2556
ณัฏฐลักษณ์ .........ข่าว/วิภา......ตรวจ |