ดาวน์โหลดเอกสารประชาสัมพันธ์ วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย
โครงการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย
๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
-----------------------------------------------------
๑. หลักการและเหตุผล
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๒๖ ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ” เป็นวันที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของประเทศ อันก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งในประเทศและนานาชาติจำนวนมากเกิดความเศร้าสลดแก่คนทั้งโลกกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการที่จะได้รณรงค์เสริมสร้างความตระหนักให้กับประชาชนรู้จักป้องกันตนเองให้พ้นภัย การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการเผชิญเหตุรับมือกับภัยพิบัติทั้งภัยที่เกิดจากธรรมชาติและภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อก่อให้เกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัย(Safety Mind) และพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัย(Safety Culture)แก่ประชาชนในชาติ
จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัย ทั้งอุบัติภัยซึ่งเป็นภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเกิดสาธารณภัย ย่อมจะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่มากก็น้อย สาเหตุของการเกิดอุบัติภัย เช่น อัคคีภัย ภัยจากการจราจร ภัยจากการทำงานต่างๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากความประมาท การขาดความระมัดระวังหรือความพลั้งเผลอ หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มหรือไฟป่านั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่สามารถป้องกันหรือบรรเทาหรือลดผลกระทบต่อความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ชุมชน สังคม ได้เกิดการเรียนรู้ในการที่จะป้องกันตนเอง เกิดความตื่นตัวเป็นการกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียอันเกิดจากสาธารณภัยต่างๆ จึงกำหนดจัดงาน“วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย” ขึ้น
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชน ชุมชน สังคมและองค์กรเครือข่ายด้านการป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัยได้ตระหนักถึงความสูญเสียจากการเกิดสาธารณภัย อุบัติภัยต่างๆ เกิดความตื่นตัวเตรียมความพร้อม รับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลาหากเกิดสถานการณ์ขึ้น
๒.๒ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind) ให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯ ในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
๒.๓ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ของประชาชนนำไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture)
๓. กลุ่มเป้าหมาย
การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิฯ สมาคม อาสาสมัคร สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมจัดกิจกรรมโครงการฯ เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักและจิตสำนึกด้านการป้องกันตนเองจากการเกิดอุบัติภัย ก่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
๔. วิธีดำเนินการ
๔.๑ จัดทำโครงการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย ขอรับการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
๔.๒ แต่งตั้งคณะทำงานโครงการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย
๔.๓ จัดประชุมคณะทำงานโครงการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
๔.๔ กำหนดจัดให้มีกิจกรรม ประกอบด้วย
- การอ่านสารนายกรัฐมนตรีและร่วมยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากอุบัติภัยและ สาธารณภัยต่าง ๆ
- ประธานฯ กล่าวให้โอวาท
- การจัดนิทรรศการของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ ห้างร้านภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
- การตอบปัญหาชิงรางวัล การฉายภาพยนตร์ วีดิทัศน์ด้านสาธารณภัยต่างๆ ฯลฯ
๕. ระยะเวลาและสถานที่
วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๓๐ – ๒๓.๐๐ น. ณ บริเวณลานเอนกประสงค์ สวนตุงและโคมเชียงรายเฉลิมพระเกียรติในหลวง ๗๕ พรรษา เทศบาลนครเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
๖. งบประมาณ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
๗. หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย
คณะกรรมการโครงการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จังหวัดเชียงราย
๘. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๘.๑ ประชาชน ชุมชน สังคม เกิดความตื่นตัวเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา
๘.๒ ผู้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาชน และผู้ที่สนใจเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัย(Safety Mind) และเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ในการป้องกันตนเอง ครอบครัวและชุมชนนำไปสู่การลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตนเองและในภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ
๘.๓ เกิดการบูรณาการสร้างการส่วนร่วมของหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ
๙. ผู้เสนอโครงการ ลงชื่อ
( นายเชษฐา โมสิกรัตน์ )
หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ รักษาราชการแทน
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย
๑๐. ผู้เห็นชอบโครงการ ลงชื่อ ( )
๑๑. ผู้อนุมัติโครงการ ลงชื่อ
( )
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
|