สาธารณสุข เตือนประชาชนอย่านำสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติมาประกอบอาหาร หากพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือปศุสัตว์ ขณะนี้ได้แจ้งให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และ อสม.จับตาเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่ทีมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทุกราย
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนว่า พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในคนเป็นครั้งแรกในประเทศจีน โดยพบผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 5 รายนั้น เชียงรายเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ในช่วงสงกรานต์นี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาค่อนข้างมาก และอยู่ติดชายแดน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มอย่างเข้มข้น ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างรุนแรง หากพบให้รายงานทันที 2. ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมหลังกลับมาจากต่างประเทศ 3.ผู้ป่วยปอดบวมที่มีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่เกี่ยวข้องกันทางระบาดวิทยา และ4. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ป่วยเป็นปอดบวม
นอกจากนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมในการบริการรองรับผู้ป่วย ได้แก่ การวินิจฉัยโรค ห้องแยกกักกันผู้ป่วย ยาแอนตี้ไวรัส ตามแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ เนื่องจากหากพบผู้ป่วยเร็วได้รับการรักษาทันที โอกาสรอดชีวิตจะสูง และจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่จำกัดการเดินทาง แต่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตาย หากพบผู้มีอาการให้รายงานทันที สำหรับในชุมชน เน้นให้ อสม.เฝ้าระวังสัตว์ปีกที่ป่วยตาย และผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนก ประชาชนต้องบริโภคเนื้อไก่ ไข่หรือสัตว์ปีกที่ปรุงสุกเท่านั้น ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูกน้ำตาไหล และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติให้ทราบด้วย
ที่สำคัญที่สุดขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคไข้หวัดนก อย่านำสัตว์ปีกที่ตาย เช่น ไก่ นก หรือเป็ดมาประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด และไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละขาย หากพบสัตว์ปีกป่วยตาย ไม่ว่าจะเป็นนกธรรมชาติหรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในบ้าน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม. เพื่อนำซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อและนำไปทำลายอย่างถูกวิธี หากจำเป็นต้องสัมผัสซากสัตว์ปีก จะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น สวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติก สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสัตว์ปีกทุกครั้ง
ข้อมูลข่าวสารสาธรณสุข 57/2556 ********************** 5 เมษายน 2556 |