สาธารณสุขเผย ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน 1 ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงเกือบ 8 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.56 พันล้านคน เหตุจากกินอาหารรสเค็ม(โซเดียม) อ้วน ทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ เครียด และอายุที่เพิ่มขึ้น ระบุโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติหรือสั่นพลิ้ว จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 3-5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แนะผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตปีละ 1 ครั้ง
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension day) ในปี 2556 World Hypertension League ได้กำหนดคำขวัญว่า “Healthy Blood Pressure Healthy Heart Beat” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ใช้เป็นคำขวัญในการรณรงค์ว่า “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี” โดยให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสื่อสาร สร้างกระแสให้ประชากรตื่นตัวต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยเน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง ตลอดจนเพื่อการส่งข้อมูล การป้องกัน การคัดกรอง และการดูแลรักษาไปสู่สาธารณชน
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน วัยผู้ใหญ่ทั่วโลก 1 ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงเกือบ 8 ล้านคน เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 วัยผู้ใหญ่ทั่วทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.56 พันล้านคน สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการกินอาหารรสเค็ม(โซเดียม) อ้วน ทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่และมีความเครียด นอกจากนี้อายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
โรคความดันโลหิตสูงคือ ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปควรไปตรวจวัดความดันโลหิตปีละ 1 ครั้ง หากเป็นความดันโลหิตสูงแล้วจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและอ็อกซิเจนไปสู่หัวใจ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ โรคเบาหวาน และมีแนวโน้มเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายตามมาได้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยหรือสาเหตุที่จะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ที่มีภาวะหัวใจสั่นพลิ้วหรือหัวใจเต้นผิดปกติ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 3-5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ นายแพทย์ชำนาญกล่าว
ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 66/2556 ********************** 14 พฤษภาคม 2556 |