นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ได้กำหนดประเด็นใช้ในการรณรงค์ว่า “Ban tobacco advertising, Promotion and sponsorship” โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทย กำหนดรณรงค์เป็นภาษาไทยว่า “ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต”
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง จัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ ขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วม ในกลุ่มสมาชิกในครัวเรือน บุตรหลาน คู่สมรส เพื่อน สมาชิกในชุมชน ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดเชียงราย ปลอดบุหรี่ ในปี 2555-2556 เพื่อให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน มุ่งสู่จังหวัดปลอดบุหรี่ เกิดการสร้างกระแส ผลักดันให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการจัดระเบียบ จัดเขตปลอดบุหรี่ กำกับการติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมีการบำบัดผู้สูบบุหรี่ให้กับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ในระดับพื้นที่ ซึ่งเชียงรายมีคลินิกอดบุหรี่อยู่ในโรงพยาบาล 17 แห่ง ให้บริการบำบัดฟรี ผลการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดในคลินิกอดบุหรี่ในปีที่ผ่านมา มีผู้ที่สามารถลด ละ เลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 10
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า การสูบบุหรี่ทำลายสุขภาพทั้งต่อผู้สูบและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สูดควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด สารอันตรายที่สำคัญ เช่น คาร์มอนมอนน็อกไซด์ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ สารนิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและไม่เป็นจังหวะ ฯลฯ สารทาร์หรือน้ำมันดิน เป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ,กล่องเสียง,หลอดลม,หลอดอาหาร,ไต,กระเพาะปัสสาวะและอื่นๆ ร้อยละ 50 ของสารทาร์จะไปจับที่ปอด เกิดอาการระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ เป็นโรคถุงลมโป่งพอง หายใจขัด หอบ หากเรื้อรังอาจเสียชีวิตได้ จากการสำรวจพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 90 มาจากการสูบบุหรี่ โดยมีผลวิจัยระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ 1 ซองมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5-20 เท่า
“ขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ไปรับบริการที่คลินิกอดบุหรี่ในโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง และสามารถขอรับคำปรึกษาการลด ละ เลิกบุหรี่ได้ทางสายด่วน 1600” นายแพทย์ชำนาญกล่าว
ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 68/2556 ********************** 29 พฤษภาคม 2556 |