สาธารณสุขเชียงราย เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนที่ฉีดช่วงนี้เป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออก แนะให้ทำลายลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน อย่าให้ถูกยุงลายกัด ตั้งแต่ มกราคม – 15 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,835 รายขอความร่วมมือ อสม. ช่วยค้นหาผู้ป่วยที่มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสเกิน 2 วัน หากพบแนะให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
กรณีที่มีข่าวลือว่า ขณะนี้เชียงรายมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตจำนวนมาก และมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 มิถุนายน 2556 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้รับรายงานจากสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 1,835 ราย ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต ดังนั้นข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่เป็นความจริง ที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือดังกล่าว จากการตรวจสอบสถานบริการสาธารณสุขพบว่า วัคซีนที่ฉีดให้กับผู้สูงอายุขณะนี้เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่ป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจมากที่สุด โดยขอความร่วมมือให้ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณบ้าน สำนักงานทุก 7 วัน และอย่าให้ถูกยุงลายกัด ซึ่งการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกจะประสบผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ ความตั้งใจอย่างเคร่งครัดและจริงจังทั้ง 3 ส่วน คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชน โดยรณรงค์ให้ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. 1 ข. ได้แก่ ปิดภาชนะที่ใช้เก็บน้ำให้สนิทไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะขังน้ำทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อม/กำจัดขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และขัดไข่ยุงลายในภาชนะเก็บน้ำ
โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนเรื่องการป้องกันการเสียชีวิต ขอความร่วมมือ อสม. และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ( SRRT ) ในพื้นที่ ช่วยค้นหาผู้ที่มีไข้สูงกระทันหันเกิน 38 องศาเซลเซียสตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง หากพบแนะนำให้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาล หากแพทย์วินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยมีโอกาสหายและรอดชีวิตได้เร็วขึ้น นายแพทย์ชำนาญกล่าว
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 74/2556 ********************** 21 มิถุนายน 2556 |