ตั้งแต่ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่างพ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. .... เมื่อปีที่แล้ว เครือข่ายต่อต้านการสูบบุหรี่กลุ่มต่างๆ ได้นำเสนอประเด็นข้อมูลเพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ อย่างต่อเนื่อง และมีการพาดพึงถึงชาวไร่ยาสูบอยู่บ่อยครั้ง และมีประเด็นชี้นำให้ชาวไร่ยาสูบซึ่งประกอบอาชีพสุจริตต้องตกเป็นจำเลยต่อสังคม มีการกล่าวหาชาวไร่ว่าละโมบและเป็นเครื่องมือบริษัทบุหรี่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาวไร่ยาสูบเป็นผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนจากร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ ดังกล่าวและการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเพื่อปกป้องอาชีพที่เลี้ยงปากท้อง ถึงเวลาแล้วที่นักวิชาการควรเลิกใช้ ความคิดแบบเดิมๆ ว่าชาวไร่ยาสูบในชนบทเป็นคนโง่ คิดไม่เป็น ถูกชักจูงได้โดยง่าย ไม่เข้าใจหลักการของกลไกตลาด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กฏหมายข้อห้ามสุดโต่งเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดเปลี่ยนแปลงไปแทบทั้งสิ้น
เหตุผลที่ชาวไร่ออกมาต่อต้านร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ เนื่องด้วยร่างพ.ร.บ. ฯ ฉบับใหม่ต้องการลดการบริโภคยาสูบให้หมดไป โดยมีการยกร่างโดยผู้มีอคติกับยาสูบและนำเสนอมาตราการสุดโต่ง สร้างภาระกับผู้ผลิตและผู้ค้ายาสูบกว่า 480,000 ราย ซึ่งเป็นปลายน้ำของอุตสาหกรรม เมื่อ ”ปลายน้ำ” ถูกควบคุม “ต้นน้ำ” เช่นชาวไร่ยาสูบก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ในร่างพ.ร.บ.ควบคุมฯ ยังมีการลิดรอนสิทธิและกีดกันการมีส่วนร่วมของ “ผู้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ” มีการให้อำนาจเพื่อออกกฏหมายลูกต่างๆ เพิ่มได้โดยไม่ต้องผ่านครม. หรือสภาฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และจะก่อให้เกิดปัญหาแก่อาชีพชาวไร่ยาสูบ
นายสมนึก ยิ้มปิ่น ผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า “ทางสมาคมฯ เคยชี้แจงเรื่องผลกระทบแล้วหลายครั้ง การที่สมาคมฯ และชาวไร่ยาสูบในหลายๆ จังหวัดออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ ฉบับนี้ ก็เพราะชาวไร่กำลังถูกรังแกและจะถูกบีบให้หมดอาชีพ หมดรายได้ไปในที่สุด กลุ่มคนที่ไม่ใช่เกษตรกรไม่ได้ตกที่นั่งเดียวกับชาวไร่กำลังจะทำให้เกษตรกรที่มีอาชีพสุจริตมีรายได้ที่มั่นคงต้องพบกับความหายนะ ซึ่งคนที่มีรายได้และเป็นผู้พึ่งพิงในอาชีพปลูกยาสูบนี้มีมากมายทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางตอนบน รัฐบาลจะสามารถมาดูแลรับผิดชอบความเดือดร้อนของพวกเราได้หรือ”
นายสันต์ หาญสุโภ ตัวแทนชาวไร่ยาสูบพันธุ์เตอร์กิช ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “ถึงแม้ชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบจะมีการศึกษาก็ไม่สูงเท่านักวิชาการ แต่ชาวไร่ก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกษตรกรรมยาสูบ และรายได้จากการทำยาสูบเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างการทำเกษตรกรรมในภาคอีสานซึ่งมีความลำบากในการเพาะปลูกช่วงหน้าแล้ง ทำเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ยาก การทำยาสูบพันธุ์เตอร์กิชนั้นสามารถให้ผลผลิตดี โดยชาวไร่ได้พัฒนาความรู้ในการปลูกทำให้ได้ใบยามีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของในตลาดไทยและตลาดส่งออก จึงทำให้หลายจังหวัดในภาคอีสานมีการปลูกยาสูบอย่างแพร่หลาย อาทิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม กาฬสินธุ์ และสกลนคร ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลหรือกระทรวงเกษตรไม่ได้สนับสนุนเหมือนพืชอื่นๆ แต่ชาวไร่เกือบ 30,000 ครอบครัวก็เลือกที่จะปลูกเพราะมีราคาที่แน่นอนและสามารถทำรายได้มาก ข้อมูลนี้คงจะช่วยอธิบายความสำคัญของอาชีพการปลูกยาสูบ และชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ชาวไร่ต้องออกมาเรียกร้องเพื่อปกป้องอาชีพได้อย่างชัดเจน”
นายกฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบเชียงใหม่ ตัวแทนผู้บ่มและชาวไร่ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในภาคเหนือ กล่าวว่า “นอกจากรายได้ที่ชาวไร่ได้รับจากการปลูกยาสูบเพื่อส่งให้โรงงานยาสูบถึง 29.63 ล้านกิโลกรัมในปี 2554 การปลูกใบยาสูบเพื่อส่งออกปีที่ผ่านมายังมีมูลค่าสูงถึง 2,554.29 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้ามาในประเทศไทยและไม่สร้างภาระให้รัฐบาล เรามองว่าการอ้างตัวเลขต่างประเทศมาวิเคราะห์ชะตาชาวไร่ยาสูบไทยนั้นเป็นการเบี่ยงประเด็นความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวไร่จากร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ ที่จะทำให้อาชีพและรายได้ชาวไร่ยาสูบต้องถูกกระทบ”
“ก่อนหน้าที่จะมีการผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมฯ ชาวไร่ยาสูบมิเคยสร้างปัญหาให้รัฐบาลเลย ไม่เคยปิดถนนให้รัฐบาลช่วยซื้อ ไม่เคยประท้วงขอขึ้นราคา แต่ที่รวมตัวออกมาเคลื่อนไหวเพราะชาวไร่จะต้องเดือนร้อนโดยที่ไม่มีใครช่วย โดยสมาคมฯ ต่างๆ จะรวมพลังกับชาวไร่ยาสูบทั้งประเทศเพื่อปกป้องอาชีพอย่างถึงที่สุด และสมาคมฯ ขอฝากไปยังรัฐบาลพิจารณาว่า กฏหมายควบคุมยาสูบฉบับเดิมไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการบังคับใช้ กฏหมายควบคุมยาสูบของประเทศไทยมีความเข้มงวดมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นออกกฎหมายเพื่อทำร้ายชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศเลย” นายกฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบเชียงใหม่ กล่าวสรุป |