นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า 29 กันยายนของทุกปี สมาพันธ์หัวใจโลกได้กำหนดเป็นวันรณรงค์หัวใจโลก ปีนี้ใช้ประเด็นรณรงค์คือ “Take the road to a healthy heart” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “เลือกแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อหัวใจที่แข็งแรง” โดยเน้นการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก วัตถุประสงค์ของการณรงค์เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ และทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดความตระหนักและตื่นตัวในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้นของตนเองได้
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและในสังคมเมือง พบประมาณ 17.3 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะโรคนี้ และจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 23.3 ล้านคนภายในปี 2030 สำหรับไทย โรคหัวใจและหลอดเลือดก็เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีอัตราป่วยเพิ่มมากขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ร้อยละ 80 หากทุกคน ทุกฝ่าย มีความตระหนักและร่วมมือกันอย่างจริงจังที่จะปกป้องหัวใจของตนเองและบุคคลที่เรารักให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในชีวิตประจำวัน
นายแพทย์ชำนาญกล่าวอีกว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการในปัจจุบัน ได้แก่ การกินอาหารประเภทไขมันสูง เช่น ทอด ผัด ร่างกายย่อยยาก การกินอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลมาก จะทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดแดงแคบลงและเลือดไหลผ่านไม่สะดวก จะส่งผลให้หัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก เจ็บหัวใจขณะออกแรงหรือมีอาการเครียด อาจเสียชีวิตกะทันหันได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำหนักเกิน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ความอ้วน ดังนั้นการป้องกันต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งทำได้และง่ายกว่ารอให้ป่วยแล้วรักษา ไม่สิ้นเปลืองเงิน และไม่เสียเวลาด้วย
การปฏิบัติตัวเพื่อทำให้หัวใจแข็งแรงสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ คือ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายสัปดาห์ละ 5 ครั้งๆละ 30 นาที รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ไม่เครียด งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้งเพื่อตรวจวัดความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัวและดัชนีมวลกาย แล้วนำมาวางแผนปฏิบัติการให้เห็นชัดเจนในบ้านเพื่อพัฒนาหัวใจให้ดีขึ้น
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 93/2556 ********************** 27 กันยายน 2556 |