เมื่อเร็วๆนี้(9 ต.ค.56) ที่วัดครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พุทศาสนิกชนจำนวนมากนำโดยนายพงษ์ทร ชยาตุลชาต สจ.อำเภอเชียงของ เขต 2 นายดำรงศักดิ์ ไชยสาร นายกเทศมนตรีตำบลครึ่งรวมทั้งผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่น ประชาชนชาวตำบลครึ่ง ร่วมงานบุญตานก๋วยสลาก ประจำปี 2556 โดยมีพระมหาวุฒิชัย( ว.วชิรเมธี) พระนักคิดนักเขียนนักเทศน์ชื่อดังเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระพระราชจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปาง พระครูวิรุฬห์วิริยธรรม เจ้าคณะตำบลครึ่ง/เจ้าอาวาสวัดครึ่งใต้ร่วมพิธี สำหรับการจัดงานบุญตานสลากในครั้งนี้เป็นปีแรกที่ทางวัดครึ่งใต้เป็นเจ้าภาพโดยการอำนวยการของพระมหาวุฒิชัย( ว.วชริเมธี) มีคณะศรัทธาจาก 39 วัดทั่วประเทศกว่า 300 คน นำก๋วยสลากร่วมงานกว่า 2,000 เส้นสลาก มีการนิมนต์พระภิกษุสามเณรมารับเครื่องไทยทานกว่า 100 รูป และมี 8 หัววัดของตำบลครึ่ง ส่งต้นสลากภัตรที่ทำจากไม้ไผ่สูงประดับประดาด้วยเครื่องไทยทาน เข้าประกวดชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 40,000 บาท นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงฟ้อนรำของกลุ่มแม่บ้านตำบลครึ่ง การแสดงตีกลองสะบัดชัย การรำฟ้อนดาบ การแสดงซอของคณะช่างซอแม่ทองสร้อยและช่วงท้ายมีการปีนเสาน้ำมันชิงเงินรางวัลบนยอดเสาซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนต่างแย่งกันปีนเสาที่ลื่นไถลด้วยน้ำมันพืชเพื่อแย่งเงินรางวัลกันอย่างสนุกสนาน สำหรับผลการประกวดต้นสลากภัตรที่ทำจากไม้ไผ่สูงชนะเลิศได้แก่วัดตอง อันดับที่ 2ได้แก่วัดหลวงและที่ 3 ได้แก่วัดครึ่งใต้
พระมหาวุฒิชัย( ว.วชริเมธี) กล่าวว่า การจัดงานบุญในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลัก 4 ข้อคือเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อรักษาประเพณีให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญร่วมกันสืบสานต่อไป เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและประการสุดท้ายเพื่อสร้างความรักความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และอีกประการที่จัดขึ้นที่วัดแห่งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อร่วมสมทบทุนสร้างซุ้มประตูและอาคารวิหารของวัดครึ่งใต้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่พุทธศาสนิกชนตำบลครึ่งร่วมกันจัดขึ้นก็เลยจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนให้มีการตกแต่งเครื่องไทยทานเป็นต้นกัลปพฤกษ์ที่ทำจากไม้ไผ่สูงเพื่อประกวดแข่งขันกันอีกด้วย
ด้านนายอินสอน ติ๊ปโครต ผู้ใหญ่บ้านบ้านหลวง ม. 8 ที่ได้รับรางวัลที่ 2 กล่าวว่างานบุญตานก๋วยสลากปกติที่วัดหลวงก็จัดเป็นประจำทุกปีแต่เป็นก๋วยสลากเล็กแต่ปีนี้ทางท่านมหาวุฒิชัยฯอยากให้ร่วมกันสืบสานประเพณีส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่นจึงได้ร่วมกันจัดขึ้นที่วัดครึ่งใต้นี้และมีการปะกวดต้นก๋วยสลากหรือเรียกว่าสลากสร้อยขึ้นเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีตานก๋วยสลากให้คงอยู่คู่พระพุทธศาสนาให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักประเพณี ทางคณะศรัทธาบ้านหลวงจึงร่วมกันทำต้นสลากจากไม้ใผ่สูงถึง 20 เมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นต้นสลากภัตที่สูงที่สุดในประเทศไทย ประดับตกแต่งด้วยวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่น ข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์การดำรงชิวิตของคนสมัยก่อน เช่น หมากพลู อุปกรณ์ยังชีพ เครื่องแต่งกาย ธนบัตรรุ่นเก่า ฯลฯ เพื่อสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ามีวิวัฒนาการอย่างไรและสอดแทรกความรู้เรื่องการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียนผ่านต้นสลากนี้ให้ทราบอีกด้วย ซึ่งต้นสลากนี้พร้อมปัจจัยต่างๆจะได้ถวายให้ทางพระมหาวุฒิชัยฯต่อไป
สำหรับวัดครึ่งใต้ อ.เชียงของ จ.เชียงรายเป็นวัดที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี(ว.วชิรเมธี)เคยบวชเรียนและจำพรรษาอยู่ตั้งแต่สมัยที่เป็นสามเณร จนอายุครบตามเกณฑ์และได้บรรพชาเป็นพระภิกษุที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันพระมหาวุฒิชัยฯได้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมสามเณร(ต.ส)ที่วัดครึ่งใต้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาสามเณรให้มีคุณภาพมีความรู้ทางธรรม ทางโลกและสร้างศาสนทายาทในอนาคต ซึ่งถือเป็นโรงเรียนเตรียมสามเณรแห่งแรกของประเทศไทย
ส่วนประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณของชาวล้านนาและได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวเหนือเรียกประเพณีตานก๋วยสลากแตกต่างกันไป เช่น ตานสลาก ตานก๋วยสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นสลาก สลากภัต เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกๆเนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนากันเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยก่อนวันตานก๋วยสลาก 1 วันจะมี วันดา หมายถึงวันที่พ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันและมีเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมทำบุญ ตามแต่กำลังศัทธา ส่วนก๋วยสลากหรือตะกร้าหรือชะลอม ภาชนะจากวัสดุที่ชาวบ้านสานขึ้นมา แบ่งเป็น 2 ประเภทคือก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและก๋วยใหญ่ หรือสลากสร้อย สลากโชคเป็นก๋วยสลากที่จะถวายเป็นมหากุศลให้กับตัวเราเอง ซึ่งก๋วยสลากปัจจุบันมีการเปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยใช้เป็นภาชนะอื่นๆที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นดียวกับคำว่าสลากภัตหมายถึงถึงใบสลากที่ไว้สำหรับพระหรือสามเณรจับ แต่ก่อนใช้ใบลานทว่าปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระดาษเพื่อเหมาะกับยุคสมัย เช่นกัน ประ เพณีตานก๋วยสลากหรือประเพณีกิ๋นสลากเป็นประเพณีทำบุญโดยมิได้เลือกเจาะจงพระสงฆ์องค์ใดด้วย |