มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาเดินหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การศึกษานานาชาติ บนพื้นที่ 300 ไร่ เป็น“มหาวิทยาลัย GMS” แห่งแรกของประเทศรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) หลังประชาคมผ่านชาวบ้านต้องการดึงนักศึกษา 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมเรียนรู้ ทำเลดีเป็นเนินเขา ติด 4 เลน คาดสร้างเสร็จสวยงามไม่แพ้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
วันนี้(14 ต.ค.56)ที่ศาลาเอนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี/นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผศ.ดร.ไพบูลย์ แจ่มพงษ์ รองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พร้อมคณะได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการขอใช้พื้นที่โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ประจำจังหวัดเชียงราย มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย เขต 5 นายธวัชชัย ภู่เจริญยศ ปลัดอาวุโสอำเภอเชียงของ นายดำรงศักดิ์ ไชยสาร นายกเทศมนตรีตำบลครึ่ง ผู้นำชุมชนท้องถิ่นและประชาชนชาวตำบลครึ่งให้การต้อนรับ
ผศ.ดร.ไพบูลย์ แจ่มพงษ์ รองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์การศึกษา ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(Greater Mekong Sub region:GMS) ในพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และเมื่อ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาทางท่านอธิการบดีฯ รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย พร้อมคณะก็ได้เดินทางมาประสานงานกับทางเทศบาลตำบลครึ่งพร้อมทั้งร่วมประชุมชี้แจงรับฟังความคิดเห็นและทำการประชาคมเบื้องต้นกับผู้นำชุมชนและราษฏรในพื้นที่แล้วซึ่งเห็นด้วยที่อยากให้มีสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นในพื้นที่ วันนี้ทางสภามหาวิทยาลัยฯโดยท่านนายกฯสภา กร ทัพพะรังสี จึงมาพบปะผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูสถานที่จริงจำนวน 300 ไร่ สำหรับเตรียมก่อสร้างอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนต่างๆของหน่วยงานราชการโดยเฉพาะการขอใช้พื้นที่ป่าชุมชนเพื่อเตรียมจัดสร้างมหาวิทยาลัยต่อไป
ด้านนายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและส่วนท้องถิ่นเพื่อยืนยันความต้องการของพี่น้องชาวตำบลครึ่งและพื้นที่ใกล้เคียงว่ามีความต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทานำองค์ความรู้ตลอดจนวิทยาการต่างๆมาถ่ายทอดให้กับชาวเชียงของ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯมีนโยบายชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำ เพื่อปวงชน นำทางแสงสว่าง ความรู้ บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชน สังคม จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษา ณ จังหวัดเชียงรายขึ้น โดยจะสร้างเป็นมหาวิทยาลัย GMS หรือมหาวิทยาลัยลุ่มน้ำโขง แห่งแรกของประเทศ ที่อำเภอเชียงของแห่งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ คือไทย จีน พม่า ลาว เวียนนามและกัมพูชารวมทั้งรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรมนานาชาติ เนื่องจากเชียงของเป็นศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งยังปลายปีนี้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ก็จะเปิดใช้แล้ว ประเทศต่างๆในภูมิภาคก็จะเดินทางติดต่อกันสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีของเชียงของยังคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมืองสิบสองปันนาของจีน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีโครงการที่จะนำนักศึกษาในประเทศลุ่มน้ำโขงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วย สำหรับพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยนั้นมีความเหมาะสมมากเนื่องจากทำเลที่ตั้งเป็นเนินเขาสวยงาม ติดถนน 4 เลน หากผ่านขั้นตอนต่างๆแล้วจังหวัดเชียงรายจะมีสถาบันการศึกษาอีกแห่งที่สวยงามไม่แพ้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแน่นอน
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันพื้นที่อำเภอเชียงของมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากเนื่องหลังมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และมีกำหนดเปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการวันที่ 11/12/2013 นี้ โดยเฉพาะด้านการศึกษามีสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีโครงการและแผนงานที่จะมาเปิดสาขาหรือสร้างศูนย์การศึกษาขึ้นที่นี่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ก็มีโครงการจัดตั้งสร้างสาขาวิทยาเขต ในพื้นที่บ้านทุ่งอ่าง ต.สถาน มานานหลายปีแล้วแต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่จำนวน 500 ไร่ ในเขตตำบลบุญเรือง เตรียมสร้างสาขาฯเชียงของ โดยได้ผ่านขั้นตอนประชาคมและอนุญาตให้สร้างจากท้องถิ่นเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะลงมือก่อสร้างเร็วๆนี้ และล่าสุดมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาได้ขอใช้พื้นที่เตรียมจัดสร้าง มหาวิทยาลัย GMS ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษารองรับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บนพื้นที่ 300 ไร่ ที่บ้านหลวง หมู่ 4 ต.ครึ่ง องเชียงของ จ.เชียงราย โดยอยู่ในขั้นตอนสำรวจและขออนุญาตใช้สถานที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าชุมชน |