เชก ขนเครื่องกำจัดขยะ-ผลิตปุ๋ยโชว์เชียงราย-อปท.นครสวรรค์ใช้ไข่แลกขยะ |
|
ประกาศเมื่อ
28 ตุลาคม 2013 เวลา 11:03:31 เปิดอ่าน
1320 ครั้ง |
|
|
กลุ่มทุนสาธารณรัฐเชก ขนเทคโนโลยีกำจัด-แปรรูปขยะฯ สาธิตโชว์ อปท.เชียงราย แห่งแรกในเอเชีย หลังเจอปัญหาขยะล้นชุมชน-ค่ากำจัดสูงลิ่ว ขณะที่ อปท.ในนครสวรรค์ เลือกใช้ไข่แลกขยะ ล่อชาวบ้านคัดแยกก่อนทิ้ง
ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาขยะล้นชุมชน และมีต้นการกำจัดขยะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในเชียงราย ได้เปิดโครงการสาธิตเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนด้วยระบบถังหมักแปรรูปขยะ ระบบอัดความร้อนด้วยอากาศ ขึ้นที่อาคารเอนกประสงค์ เทศบาล ต.ป่าก่อดำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เป็นระยะเวลา 3 เดือน
โครงการดังกล่าวทางสาธารณรัฐเชก และบริษัท วี รีนิวเอเบิ้ล จำกัด ได้ร่วมกับ อปท.เชียงราย นำเทคโนโลยีกำจัดและแปรรูปขยะเป็นปุ๋ยและพลังงาน มาสาธิตการใช้เครื่องมือที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำการกำจัดขยะด้วยระบบความร้อนสูง 60-70 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถกำจัดขยะได้ครั้งละ 15 ตัน และจำนวนนี้จะให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์สำหรับพืช 13 ตัน และปุ๋ยที่ได้ จะไม่มีกลิ่นเพราะแก๊สที่เกิดจากการหมักหมม ส่วนขยะและวัชพืชจะถูกกำจัดโดยกระบวนการคัดแยก
นอกจากนี้ ยังสามารถคัดแยกจนได้พลังงานในรูปของแก๊สหุงต้ม และพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ได้อีกด้วย ทั้งนี้โครงการสาธิตดังกล่าวจะดำเนินการในพื้นที่เทศบาล ต.ป่าก่อดำ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปัจจุบันได้ดำเนินการล่วงหน้ามาแล้วระยะหนึ่ง
นายนที เทพโภชน์ ผู้แทนบริษัท วี รีนิวเอเบิ้ล จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศสาธารณรัฐเชก ซึ่งมีชื่อเทคโนโลยี Ecological Waste Apparatus หรือ EWA โดยมีความแตกต่างจากที่เคยเห็นในประเทศไทย เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับการไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยเฉพาะการหมักหมม กลิ่นเหม็น แก๊ส ฯลฯ และนำร่องสาธิตที่เทศบาล ต.ป่าก่อดำ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและของทวีปเอเชียด้วย
ช่วงที่สาธิตจะดำเนินการจัดการกับขยะและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อมอบให้กับประชาชนในพื้นที่นี้เป็นเวลานาน 3 เดือนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้ปุ๋ยอินทรีที่ผ่านกระบวนการที่ผลิตได้นับ 100 ตัน
ด้านว่าที่ ร.ต.ดำรงค์ศักดิ์ ขวัญชัย นายกเทศมนตรี ต.ป่าก่อดำ กล่าวว่า เทศบาลฯประสบปัญหาเรื่องการจัดเก็บขยะ ที่มีวันละกว่า 5 ตัน ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ระบบฝังกลบแต่ก็ทำให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะกลิ่น น้ำเสีย การจัดหาพื้นที่ ฯลฯ แต่หลังจากได้ร่วมมือในโครงการมาได้ประมาณ 1 เดือนกว่า ทำให้สามารถจัดการกับปริมาณขยะที่มีได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งสำคัญคือสามารถใช้พื้นที่ที่จำกัดได้ และรถขนขยะก็ไม่ต้องขนขยะไปฝังกลบไกล ถือเป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดพื้นที่ รวมทั้งช่วงที่ผ่านมายังได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้แล้วกว่า 30 ตัน และมีประชาชนไปรับปุ๋ยไปใช้ฟรีได้เกือบทุกวัน
"ขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายจากแรงงานคนน้อยกว่า ค่าใช้กระแสไฟฟ้า ก็ใช้เพียงแค่เดือนละประมาณ 1,500 บาท ดังนั้นหลังจากร่วมโครงการแล้วในอนาคตอันใกล้เทศบาลจะพยายามจัดหาเครื่อง EWA มาใช้ในการขยะและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป" ว่าที่ ร.ต.ดำรงค์ศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ อปท.เมืองปากน้ำโพ คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ ก็ร่วมกับโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์การจัดโครงการขยะแลกไข่ ส่งเสริมให้ประชาชนกำจัดขยะลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายวรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ กล่าวว่า เทศบาลฯจัดโครงการขยะแลกไข่ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนกำจัดขยะ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พาหะของโรคไข้เลือดออก ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการจัดการขยะแต่ละประเภทและช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิล ใช้ใหม่ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงลงพื้นที่เดินหน้าให้ความรู้กับชาวบ้านในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีต่อเนื่อง |
|
|
|
|
|
|