สาธารณสุขเผย เชียงรายพบผู้ป่วยโรคปอดบวมสูงสุด เตือนช่วงปลายฝนต้นหนาว ระวังในกลุ่มเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หัวใจ ไตวาย ปอดเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ หากป่วยเป็นไข้หวัดเสี่ยงโรคแทรกซ้อนคือ ปอดบวม แนะกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หากป่วยเป็นไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีความชื้นสูง อาจทำให้เป็นไข้หวัดได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หัวใจ ไตวาย ปอดเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ โรคแทรกซ้อนที่มีอันตรายมักเกิดขึ้นหลังไข้หวัดได้แก่ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เนื่องจากโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ข้อมูลการเฝ้ารังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จาก 77 จังหวัด ตั้งแต่ 1 มกราคม – 21 ตุลาคม 2556 พบผู้ป่วยปอดบวม 143,606 ราย เสียชีวิต 803 ราย ภาคเหนือพบป่วยสูงสุด ได้แก่ เชียงราย รองลงมาได้แก่ พะเยาและแม่ฮ่องสอน พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีผลทำให้เกิดโรคโดยตรงหรือเป็นโรคแทรกในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีเชื้อไวรัส เชื้อรา สารเคมี และยาบางอย่างก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเช่นกัน พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาจเกิดแทรกซ้อนตามหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่หรือโรคหัดได้ อาการที่สำคัญคือ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว ในเด็กเล็กให้สังเกตที่บริเวณใต้ชายโครงจะบุ๋มเวลาหายใจเข้าและจมูกจะบาน อาจมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆก็ได้ ถ้าเป็นรุนแรงริมฝีปากจะเขียวแสดงว่าขาดออกซิเจน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเร็วที่สุด บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว
การป้องกัน ผู้ป่วยโรคปอดบวมมีเชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ สามารถแพร่เชื้อด้วยการไอหรือจาม ผู้ใกล้ชิดมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ วิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อคือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ฯลฯ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ นอนพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย นำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดหมาย โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันหัดและไอกรน เนื่องจาก 2 โรคนี้หากป่วยแล้วทำให้ปอดบวมแทรกซ้อนได้
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 7/2557 ********************** 30 ตุลาคม 2556 |